ค้านส่ง 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ตีความ ยื้อเวลา บังคับใช้กฎหมาย 'อุ้มหาย'
รองประธาน วิปรัฐบาล เสียงแข็ง อย่าทำให้สภา ตกต่ำจนวันสุดท้าย ค้านส่ง 'ศาลรัฐธรรมนูญ' วินิจฉัย กฎหมาย 'อุ้มหาย' ฝ่ายค้านขอแรงโหวตคว่ำ
การอภิปราย พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 หรือกฎหมายอุ้มหาย ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอในที่ประชุมสภาวันนี้
นาย ชาดา ไทยเศรษฐ รองประธานวิปรัฐบาล ไม่เห็นด้วย กับการออก พ.ร.ก.มาชะลอการบังคับใช้ กฎหมายที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎร และเห็นใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฏหมาย ชี้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องที่เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติงานได้หรือไม่ แต่เป็นเรื่องของรัฐบาล ที่แก้ปัญหาไม่ได้และไม่ให้เกียรติสภาผู้แทนราษฎร และไม่เห็นด้วยกับมติวิปรัฐบาลที่ให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเรียกร้องสมาชิก ช่วยกันโหวตคว่ำ พระราชกำหนดฉบับนี้ โดยอภิปรายมีเนื้อหาว่า ไม่น่าเชื่อว่าแม้แต่ พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายฯ ยังโดนอุ้มหายจากสภาฯ ทั้งที่เรื่องนี้น่าจะเป็นฉันทามติเดียวระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรคฝ่ายรัฐบาล และระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. แต่กลับมาตกม้าตายเพราะเรื่องวัสดุอุปกรณ์
กฎหมายนี้ผ่านสภาฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในเดือนตุลาคม 2565 กำหนดให้เวลา 120 วันในการเตรียมตัว แต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาถึง 81 วันในการยื่นขอรับสนับสนุนงบประมาณ กว่าเรื่องจะไปถึง ครม. คือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เหลือเวลาก่อนกฎหมายบังคับใช้เพียง 12 วัน จนต้องออกพระราชกำหนดออกมาเลื่อนการบังคับใช้
“คนที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่ถูกซ้อมทรมานและอุ้มหาย คงไม่เข้าใจว่าช้าไปเพียงหนึ่งนาทีหรือหนึ่งวันเป็นอย่างไร รัฐบาลมีเวลาในการเตรียมตัวแต่กลับไม่เตรียม ผมไม่รู้ว่าสาเหตุคือความประมาทเลินเล่อ ความไม่ใส่ใจ หรือความเลือดเย็นทางการเมือง นี่คือสาเหตุที่ผมและพรรคก้าวไกลไม่สามารถผ่าน พ.ร.ก. ฉบับนี้ได้” พิธากล่าว
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 มีเนื้อหา 5 มาตรา สาระสำคัญอยู่ที่มาตรา2 มาตรา 3 และมาตรา 4 ซึ่งมาตรา 2 มีสาระสำคัญ คือการเลื่อนการบังคับใช้พระราชกำหนด ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
มาตรา 3 มีสาระสำคัญเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายในมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24และมาตรา 25 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบันทึกการควบคุมตัว ต้องมีรายละเอียดประกอบด้วยข้อมูลอัตตลักษณ์ วันเวลา สถานที่ ควลคุมตัว การไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว และ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องสามารถเข้าถึงผู้ถูกควบคุมตัวได้ เป็นต้น โดยให้เลื่อนไปบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566
ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และหน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบการควบคุมตัวตามมาตรา 22 และมาตรา 23 เร่งเตรียมการให้มีความพร้อมรองรับการปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2566