ข่าว

แนะ 'แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่' จาก 'คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ'

แนะ 'แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่' จาก 'คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ'

03 มี.ค. 2566

อดีตกรรมการการเลือกตั้ง สมชัย ศรีสุทธิยากร แนะ กกต. ประกาศเขตเลือกตั้งที่ไม่ได้รับผลจาก 'คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ' ก่อน 'แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่' 8 จังหวัด ที่เหลือ

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เชื่อว่าให้สั่งการคำนวณจำนวน สส. พึงมี ทั้งประเทศ และ การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่บางจังหวัด  จะใช้เวลาไม่นาน ในการคำนวณผ่านระบบเอ็กเซล จากนั้น จะพบว่ามีจังหวัดที่ไม่เปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง 69 จังหวัด มี 8 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมีจำนวน สส.ลดลง 4 จังหวัด คือ ตาก เชียงใหม่ เชียงราย สมุครสาคร และเพิ่มขึ้น  4 จังหวัด ได้แก่อุดรธานี ลพบุรี ปัตตานี และ นครศรีธรรมราช

 

ส่วน 69 จังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบ กกต. สามารถประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาทันที เพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาทำไพรมารี่โหวต และในพื้นที่ 8 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ต้องการให้ กกต.ประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่อย่างน้อย 3 รูปแบบให้ประชาชน และพรรคการเมืองแสดงความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคมเป็นต้นไป เชื่อว่า กกต.เตรียมการไว้แล้ว ขณะเดียวกันต้องลดเวลาในการรับฟังความคิดเห็นจาก 10 วันเหลือ 5 วัน

 

หรือหลังจากประกาศการรับฟังความเห็น 4 มีนาคมแล้ว สรุปการรับฟังความเห็น 9 มีนาคม   ต่อจากนั้น 10  มีนาคม เสนอ กกต. เพื่อลงมติ รูปแบบการแบ่งเขต ใน 8 จังหวัดที่เหลือ พร้อมประกาศลงเวปราชกิจจานุเบกษาคืนวันดังกล่าว และให้พรรคการเมืองไปทำไพรมารี่โหวตใน 8 จังหวัด คาดว่าไม่เกิน 5 วันพรรคจะดำเนินการเสร็จ

 

 

แนะ ยุบสภา 22 มีนาคม

 

หากทำเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีจะยุบสภา 15 มีนาคม ก็ยังทันและมีเวลาให้พรรคการเมืองดำเนินการ แต่หากไม่ต้องการให้ตึงจึงมีข้อเสนอ ต่อนายกรัฐมนตรีว่าต้องรอ กกต. ในการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ก่อนจะตัดสินใจยุบสภา ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า วันที่เหมาะสมต่อการยุบสภาคือวันที่ 22 มีนาคม และวันเลือกตั้งที่เหมาะสมก็ควรเป็นวันที่ 21 พฤษภาคม ซึ่งเห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด อาจจะไม่ตรงกับวันธงชัยหรือวันฤกษ์ดีของใคร แต่ย้ำว่าเป็นกรอบเวลาปฏิบัติที่เป็นไปได้ที่ทำให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานได้อย่างรอบคอบครบถ้วนสมบูรณ์