'วราวุธ' ชูแนวทางแก้รัฐธรรมนูญต้องตั้ง สสร. ระบุ นโยบายสิ่งแวดล้อมสำคัญ
หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา 'วราวุธ ศิลปอาชา' ชูธงแก้รัฐธรรมนูญ ระบุชัดยังมีความไม่สมบูรณ์ มัดมือเท้าส.ส.จนทำงานให้ประชาชนไม่ได้ ย้ำชัดเรื่องสิ่งแวดล้อม แนวทางแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว
นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้พูดคุยผ่านยรายการ เนชั่นสุดสัปดาห์ เนชั่นทีวี ถึงแนวทาง นโยบาย ที่ใช้ในการหาเสียง การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง แนวทางต่อท่าทีในการร่วมรัฐบาล รวมทั้งความน่าสนใจในเรื่องของการชูธงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
ในเรื่องของท่าทีการร่วมจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องดูเสียงข้างมาก เพราะว่า เวลาการบริหารงานแผ่นดิน ส.ว. ไม่ได้เข้ามาบริหารด้วย เพราะถ้าเป็นเสียงข้างน้อย มันจะไม่เหมือนกับสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ก็อยู่ไม่รอด ด้วยกฎหมายสมัยนั้น กับกฎหมายสมัยนี้ก็ไม่เหมือนกัน แค่เสนองบประมาณแผ่นดินวาระแรก ถ้าท่านเป็นเสียงข้างน้อย แล้วไม่ผ่านความเห็นชอบ ก็ต้องเลือกตั้งกันอีก
ซึ่งดูจากสภาพแล้ว วันนี้กว่าจะตั้งรัฐบาลได้ก็ต้องเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม เข้ามาก็ต้องรีบพิจารณางบประมาณ ปี 2567 แล้วถ้าเป็นเสียงข้างน้อย มันก็ล่มตลอด พอล่มเสร็จ ก็ต้องเลือกตั้งใหม่ งบประมาณของประเทศมันก็จะล่าช้าไปเรื่อย ๆ ประเทศก็เสียหายไปเรื่อย ๆ มันต้องคิดถึงบริบทว่า จะบริหารประเทศกันอย่างไร
เมื่อถามถึงว่า พรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมที่จะจับมือกับพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล นายวราวุธ บอกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมานั่งดูกันว่า เราจะได้กี่เสียง เราเกิดเราได้เยอะเราจะเลือกเขา แต่ถ้าเราได้น้อย เขาจะเลือกเราหรือเปล่า
ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่พรรคชาติไทย เคยมีบทบาทในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วคิดว่าจะจัดการอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ ที่คิดว่ายังไม่เป็นประชาธิปไตย นโยบายที่ออกมาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวราวุธ บอกในรายการว่า เป็นนโยบายแรกในสิบนโยบายของพรรค เพราะเรายังเชื่อว่า ปี 2538 ปีที่นายบรรหาร ศิลปะอาชา แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 211 จนเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2540 เรายังเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากเสียงของประชาชนจริงๆ เพราะสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากคนที่หลากหลาย ทุกสถานะเข้ามารวมกัน แต่ฉบับถัด ๆ มา มันมีความไม่สมบูรณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ
จนแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎร เหมือนถูกมัดมือมัดขา ทำอะไรให้พี่น้องประชาชนไม่ได้เลย เข้ามาเกี่ยวข้องในการทำงานที่เกี่ยวกับงบประมาณแทบจะไม่ได้เลย พอทำแบบนี้แล้ว ถามว่า คุณเป็น ส.ส. แล้ว จะเป็นไปเพื่ออะไร
แม้ตามกฎหมาย ส.ส.จะมีหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ความเป็นจริง บริบทของประเทศไทยมันไม่ใช่ ส.ส.เป็นคนที่น้ำไม่ไหล ไฟไม่ติด ทำอะไรไม่ได้คนวิ่งมาหาหมด แล้วถ้าส.ส.โดนมัดมือมัดขา ไม่สามารถไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการอะไรต่าง ๆ ได้ จะมาดูแลความเป็นอยู่ประชาชนได้อย่างไร นี่คือหัวใจสำคัญ มันมีข้อดีและข้อด้อย
แต่คงต้องมาชั่งน้ำหนักกันว่า สิ่งที่ทำให้ ส.ส. ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ มันก็น่าเป็นห่วงมากกว่า เป็นที่มาว่าเราก็อยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลง ไปแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ควรจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วก็ก่อนจะร่างใหม่ ควรจะตั้งกลไกในการสรรหา สสร. และไม่ใช่สักแต่ว่าให้มีแต่จะต้องมีองค์ประกอบ และรายละเอียด ให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มทุกเพศ ทุกวัย แล้วก็บริบทสังคมไทยสมัยนี้ มันต่างกับเมื่อปี 2538 ต้องเป็นการยกร่างฯที่มาจากประชาชนทุกคนจริงๆ
ในเรื่องของความยั่งยืนนายวราวุธ อธิบายในเรื่องนี้ว่า เป็นนโยบายสำคัญของพรรคชาติไทยพัฒนา จากที่ได้ทำงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกือบ 4 ปี ได้เห็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แล้วเราต้องการทำให้ประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีจากนี้ไป จะต้องสู้กับต่างประเทศได้
"เพราะเรากำลังเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมคิดถึงความยั่งยืน วันนี้เราต้องเร่งคิดเร่งแก้ไขปัญหาเสียก่อน จะโยนให้เป็นภาระของลูกหลาน ไม่เห็นด้วย แนวทางการทำนโยบายของพรรค อย่างการเปิดตัว คาร์บอน เครดิต เซ็นเตอร์ เป็นการวางแนวทางแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับรากหญ้า จนถึงระดับสากล ไม่ใช่อะไรที่เพ้อฝัน เรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นเรื่องที่เป็นความสนใจระดับโลกอยู่ เกษตรกร เช่น สุพรรณบุรี อยุธยา ก็เริ่มต้นทำแล้ว ในการขายคาร์บอนเครดิต ยอมรับว่านโยบายของชาติไทยพัฒนา อาจจะไม่หวือหวาแบบพรรคการเมืองอื่น ๆ แต่จะอยู่ได้ในระยะยาว เพราเป็นแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหา ทั้งในขณะนี้และในอนาคต ไปพร้อม ๆ กัน" นายวราวุธ กล่าว
ชาติไทยพัฒนาจะไม่เพียงแก้ไขปัญหาในขณะนี้ แล้วทิ้งปัญหาในอนาคตช่างมัน จะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ แล้วค่อยไปแก้ปัญหาเอาข้างหน้า จะไม่เอาแบบนั้น เบื่อกับการที่เมื่อถึงเวลาก็ไปสัญญาแบบนั้นแบบนี้ แล้วสร้างปัญหาให้กับเขาในอนาคต ตนต้องการแก้ปัญหา เช่น เปลี่ยนวิธีการทำนา ในแนวคิดการแก้ปัญหาเรื่องคาร์บอน ถ้าเราไม่รีบเปลี่ยนตั้งแต่ตอนนี้ อีกสิบปีเราจะส่งออกไม่ได้ เพราะในอนาคตจะมีการตั้งกำแพงภาษีและเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้การจะเปลี่ยนความคิดไม่ใช่เรื่องง่าย