'สามารถ ราชพลสิทธิ์' เตือน 'อธิรัฐ รัตนเศรษฐ' อย่าร่วมวง 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม'
เตือน 'อธิรัฐ รัตนเศรษฐ' อย่าผลีผลาม ดัน 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' เข้าครม.แม้มีอำนาจ เหตุมีเวลาศึกษาน้อย หลายคดียังอยูในศาลปกครอง
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สามารถ ราชพลสิทธิ์ เตือน อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ควรชงผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เข้า ครม. หลังเรียกหัวหน้าหน่วยในสังกัดกระทรวงฯ มาชี้แจงความคืบหน้าโครงการที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน เพื่อเร่งรัดให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทันในวาระรัฐบาลชุดปัจจุบัน ด้วยเหตุผลว่า
ยังมีคดีที่ศาลปกครองยังไม่ถึงที่สุด 2 คดี ประกอบด้วย
- คดียกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด แต่ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษาแล้วว่าการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- คดีกีดกันและเอื้อประโยชน์เอกชนรายใดรายหนึ่งในการประมูลครั้งที่ 2 หรือไม่ ? ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น
คดีกีดกันและเอื้อประโยชน์เอกชนรายใดรายหนึ่งในการประมูลครั้งที่ 2 หรือไม่? นี้ เป็นคดีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่สามารถชี้แจงให้สิ้นข้อสงสัยได้ ประกอบด้วย
- (1) การเปิดให้ผู้เดินรถไฟฟ้าจากต่างประเทศเข้าร่วมประมูลได้ ทำให้ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ หรือ Incheon Transit Corporation (ITC) เข้าร่วมประมูลกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งในการประมูลครั้งที่ 1 ITD ร่วมกับ ITC ไม่สามารถเข้าประมูลได้
- การเปลี่ยนคุณสมบัติของผู้รับเหมาในการประมูลครั้งที่ 2 นี้ ทำให้ในโลกใบนี้มีผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติครบถ้วนแค่เพียง 2 รายเท่านั้น ประกอบด้วย ช.การช่าง และ ITD ส่งผลให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ร่วมกับบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECON ที่เคยยื่นประมูลครั้งที่ 1 ไม่สามารถยื่นประมูลครั้งที่ 2 ได้
- กรรมการคนหนึ่งของ ITD ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก อาจทำให้ ITD มีคุณสมบัติต้องห้ามที่จะยื่นประมูล ซึ่งถ้า ITD มีคุณสมบัติต้องห้ามแล้ว รฟม. จะต้องไม่เปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิค และซองข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนของ ITD ร่วมกับ ITC แต่ทำไม รฟม. จึงเปิดซองข้อเสนอทั้ง 2 ซองดังกล่าว ?
- การยอมให้ผู้รับเหมาสามารถเป็นผู้นำกลุ่มนิติบุคคลยื่นประมูลได้ ทำให้ ITD สามารถเป็นผู้นำกลุ่ม ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ ITC ได้ หากผู้รับเหมาไม่สามารถเป็นผู้นำกลุ่มได้ ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องเป็นผู้นำกลุ่มเหมือนกับการประมูลครั้งที่ 1 ถามว่า ITC จะยอมเป็นผู้นำกลุ่มหรือ ? เนื่องจากเขาจะต้องถือหุ้นในกลุ่มนิติบุคคลมากที่สุด และไม่น้อยกว่า 35%
ในทางที่ถูกต้อง ผู้นำกลุ่มควรเป็นผู้เดินรถไฟฟ้า เนื่องจากเขาจะต้องรับผิดชอบการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้ารวมทั้งซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดทั้งสายเป็นเวลาถึง 30 ปี ไม่ใช่ผู้รับเหมาที่ทำการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกเพียง 6 ปี
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ มีเวลาในการศึกษาการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มซึ่งมีรายละเอียดมากมาย และสลับซับซ้อนในช่วงเวลาจำกัด อาจไม่สามารถทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ การจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ ครม. แล้วถ้าต่อมาศาลฯ มีคำพิพากษาว่าการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ/หรือ การประมูลครั้งที่ 2 มีการกีดกันและเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง นายอธิรัฐจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทำได้ยากขึ้น
ควรรอให้ศาลปกครองได้พิจารณาในข้อกฎหมายให้เสร็จสิ้น และควรรับฟังการท้วงติงจากภาคประชาชนให้รอบด้าน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขกระบวนการและขั้นตอนการประมูลให้ถูกต้อง ไม่ควรละเลยหรือมองข้ามการดำเนินการที่ไม่ชอบมาพากล ซึ่งการที่ตนออกมาให้คำแนะนำเช่นนี้ เพราะไม่ต้องการให้มีช่องทางนำไปสู่การทุจริต หรือเกิดการฟ้องร้องตามมาจนโครงการต้องล่าช้าออกไปอีก เนื่องจากตนเห็นด้วยกับการมีโครงการดังกล่าว เพราะจะเป็นรถไฟฟ้าที่เชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยากับฝั่งตะวันตก และคาดว่าจะมีจำนวนผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากด้วย