'อนุดิษฐ์' จี้กสทช.แจง เลือกประมูลวงโคจรดาวเทียม ผู้ชนะคว้าราคาต่ำผิดปกติ
'อนุดิษฐ์' จี้กสทช.ชี้แจง เหตุผลเลือกใช้วิธีประมูลวงโคจรดาวเทียม แทนการออกใบอนุญาต ทำรัฐเสียประโยชน์ พร้อมตั้งข้อสังเกตุ ผู้ชนะคว้าได้ราคาต่ำผิดปกติ
วันนี้ 12 มี.ค.66 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต สส.กทม. ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานปราบโกง (ผอ.สปก.) พรรคไทยสร้างไทย แถลงข่าวเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาชี้แจงกรณีการประมูลวงโคจรดาวเทียม โดยเฉพาะเลือกวิธีการประมูลและทำไมราคาประมูลถึงต่ำ
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า เหตุใดถึงเลือกวิธีการประมูล แทนที่ควรออกใบอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐ ใช้ประโยชน์โดยตรง จากนั้นให้สัมปทานกับเอกชน เพื่อยิงดาวเทียมขึ้นไปประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิส่วนใหญ่เห็นว่าวิธีการนี้สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่า
ตนเคยทวงถามไปหลายครั้ง แต่ถึงขณะนี้ กสทช. ยังไม่เคยชี้แจง ไม่เคยเปรียบเทียบว่า การประมูลดีกว่าการออกใบอนุญาตให้รัฐอย่างไร อีกทั้งประมูลที่ผ่านมา มีบริษัทเพียง 3 บริษัท ที่เข้าประมูล และหนึ่งในนั้นถูกครหาว่าเป็นเพียงคู่เทียบเพื่อให้ครบองค์ประกอบเท่านั้น
นอกจากนี้น.อ.อนุดิษฐ์ตั้งข้อสังเกตุ เพราะเหตุใดการประมูลมูลค่าที่สูงกว่าราคาขั้นต่ำเพียง 5% เศษเท่านั้น ถือเป็นราคาที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าทางการค้าที่เอกชนสามารถนำไปแสวงกำไร ต่างจากการที่รัฐให้เอกชนนำวงโคจรดาวเทียมไปใช้งาน ภายใต้สัญญาสัมปทาน ซึ่งรัฐและประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่า ทั้งรายได้จากสัมปทานและการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมโดยตรง
น.อ.อนุดิษฐ์ เปรียบเทียบวงโคจรดาวเทียมของไทยคม 7 และไทยคม 8 ที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ อยู่ภายใต้สัมปทานรัฐ กทสช. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้บริษัทไทยคม และขอให้ไทยคมจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐบาลตามที่เคยจ่ายด้วย แต่สุดท้ายบริษัทไม่ยอมจ่าย จนเรื่องสู่กระบวนการชั้นศาล
จะเห็นได้ว่า การที่วงโคจรดาวเทียมอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานของรัฐ ย่อมสามาระเก็บรายได้และผลประโยชน์มากกว่าการประมูลอย่างแน่นอน และเอกชนย่อมหลีกเลี่ยงและไม่อยากอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน จึงอยากเรียกร้องให้ กสทช. ออกมาชี้แจงในประเด็นนี้ให้ชัดเจนเพื่อความโปร่งใส เพราะวงโคจรดาวเทียมเป็นทรัพย์สมบัติของคนไทยทุกคน และเรียกร้องไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่แสวงประโยชน์กับ ผู้ที่ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ทุกฝ่าย ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และเงื่อนไขของ กสทช. ที่กำหนดให้การใช้ประโยชน์วงโคจรดาวเทียมยังต้องอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานของรัฐต่อไป