ลุ้น กกต. 'แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่' เปิดช่อง 'ยุบสภา' 15 มีนาคมนี้
ปิดรับฟังความเห็น 'แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่' วันนี้ เหลือเวลาสองวันต้องลุ้นกันว่า กกต. จะพิจารณารับรองทันหรือไม่ หากจะ 'ยุบสภา' วันที่ 15 มีนาคม
13 มีนาคม 2566 เป็นวันสุดท้าย ที่ประชาชน สามารถแสดงความเห็นการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมาว่า การคำนวณ สส.ไม่สามารถนำราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทย ไปร่วมคำนวณด้วยได้ ซึ่งต้องลุ้นกันว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) จะดำเนินการได้ทัน หากจะมีการยุบสภา วันที่ 15 มีนาคมหรือไม่
ระเบียบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ข้อ46 ระบุว่าภายในสามวันนับแต่สิ้นสุดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดต่างๆแล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนำความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดประกอบการพิจารณาเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ของจังหวัด รวบรวมสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด พร้อมผลการพิจารณาข้อเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัดอย่างน้อยสามรูปแบบเรียงตามลำดับความเหมาะสมต่อ กกต.
ส่วนขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง แม้ไม่ได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้ แต่ดูจากผลงาน ที่สามารถประกาศ จำนวนสส.ได้ ในวันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นกังวล เมื่อได้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา เป็นอันว่า สามารถรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้ครบทั้ง 400 เขต
หากแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่แล้วเสร็จ มีการยุบสภา ตามสมมติฐานที่ตั้งไว้15 มีนาคม 2566 และมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว ขั้นที่จะตามมาคือ
- กกต. ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป กรณีมีการยุบสภา ซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 45 วัน และไม่ช้าเกิน 60 วัน ( 7 พฤษภาคม 2566 )
- กำหนดวันรับสมัคร ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา หรือไม่เกิน 20 มีนาคม 2566
- หลังจากนั้น จะมีการเปิดรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นเวลา 5 วัน
- ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ม.46) ภายใน 7 วัน นับแต่มีการปิดรับสมัคร
- กกต.ต้องประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง(ม.30) และประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ม.36 ) ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน
- ส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน(ม.36)/สรรหา,แต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง(ม.19) ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน
- ส่วนการแจ้งเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง (ม.30) , แจ้งเพิ่มชื่อ - ถอนชื่อ ( ม.37, ม.38 ) ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (ม. 33 ) ภายใน 7 วัน ก่อนการเลือกตั้ง
- ต้องกำหนดให้มีวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง/นอกเขตเลือกตั้ง 1 วัน