ข่าว

ปชป. ประกาศสงคราม PM2.5 คุมมลพิษ 16 เขตชั้นในกทม. เร่งออกกฎหมายอากาศสะอาด

ปชป. ประกาศสงคราม PM2.5 คุมมลพิษ 16 เขตชั้นในกทม. เร่งออกกฎหมายอากาศสะอาด

13 มี.ค. 2566

'ดร.เอ้' ชี้ฝนตกไม่ช่วยลดค่าฝุ่น เตรียมนำร่องคุมมลพิษ 16 เขตชั้นในกทม. เร่งออกกฎหมายอากาศสะอาด ด้าน 'องอาจ' ซัดผู้บริหารเมินแก้ปัญหา จนลุกลามหนัก เชื่อ ปชป. ทำได้แน่

วันนี้ 13 มี.ค. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ , ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย และ ว่าที่ผู้สมัคร กทม. ประกาศสงครามฝุ่น PM2.5 ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

โดยเวลาประมาณ 9.25 น. ศ.ดร.สุชัชวีร์ นำเครื่องมาวัดค่าฝุ่น เมื่ออยู่ในพื้นที่โปร่ง ค่าฝุ่นอยู่ที่ประมาณ 25 ไมโครกรัม ส่วนริมถนนพระราม 1 อยู่ที่ประมาณ 53 ไมโครกรัม ซึ่งเกินค่าตามมาตราฐานที่กำหนดไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัม

ด้านศ.ดร.สุชัชวีร์ เปิดเผยว่า แม้ฝนตกเมื่อคืน แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่สามารถแก้ PM2.5 ได้ คนที่รับผิดชอบต้องให้ข้อเท็จจริงกับประชาชน วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ขอประกาศสงครามกับ PM2.5 โดยกำหนดเขตมลพิษต่ำ "Bangkok Low Emission Zone" หรือ "B-LEZ" (บีเลส)  เตรียมนำร่องแก้ปัญหา 16 เขตพื้นที่ชั้นในกทม. (พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ดุสิต พญาไท ราชเทวี ปทุมวัน สาทร บางรัก บางคอแหลม บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี ยานนาวา) ครอบคลุมพื้นที่กว่า 130 ตารางกิโลเมตร

 

โดยการควบคุมรถขนส่งและรถสาธารณะที่ปล่อยฝุ่น หรือ รถควันดำ รวมถึงการก่อสร้างต้องรับผิดชอบต่อสังคม ผิดกฎต้องปรับ แต่หากมีมาตราการลดฝุ่น จะสามารถนำค่าใช้จ่ายต่างๆมาลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจากบริเวณนี้มีสถานศึกษามากกว่า 300 โรงเรียน และสถานพยาบาลมากกว่า 40 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นอย่างรุนแรง 

ดร.เอ้ วัดค่าฝุ่น PM2.5

นอกจากนี้เร่งออก "กฏหมายอากาศสะอาด Clean Air Act" จากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง โดยยึดหลักมาตรฐานสากล
- กฎหมายอากาศสะอาด จะกำหนดเป้าหมายและมาตรฐานมลพิษทางอากาศอย่างเป็นธรรมต่อสุขภาพประชาชนและการพัฒนาประเทศ ตามหลักสุขภาพสากล
- กฏหมายอากาศสะอาดจะเน้นการกระจายอำนาจในการควบคุม ประเมิน ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา อย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ
- กฏหมายสะอาดจะใช้มาตรการ "ภาษีฝุ่นและค่าธรรมเนียม" กับการปลอดมลพิษอย่างไร้ความรับผิดชอบของบุคคลและนิติบุคคล เพื่อนำมาใช้ในการรักษา เยียวยาปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ได้รับกระทบ และจะให้ประโยชน์การลดหย่อนภาษีและโบนัสแก่บุคคลและนิติบุคคลที่ช่วยป้องกันฝุ่น ลดมลพิษ
- กฏหมายอากาศสะอาดจะส่งเสริมการวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในประเทศ รวมทั้งการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดการมลพิษทางอากาศ และสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด
 
ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วม รับรู้ข้อมูลและอันตรายของมลพิษทางอากาศ อย่างเท่าเทียม รัฐรู้เท่าไหร่ ประชาชนต้องรู้เท่านั้น 
- ต้องแสดงปริมาณฝุ่นให้ประชาชนได้รับรู้ บริเวณโรงเรียน โรงพยาบาล พื้นที่ก่อสร้าง และพื้นที่เสี่ยง เพื่อการปกป้องสุขภาพ และเพื่อการควบคุมฝุ่น
- ในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบ ขอประเมินคุณภาพอากาศ 
- ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ ประเมิน และตรวจสอบ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน 

ด้านนายองอาจ เชื่อว่า หากพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา PM2.5 จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด เพราะที่ผ่านมาพยายามเสนอวิธีการแก้ปัญหา แต่พบว่ายังไม่สามารถดำเนินการได้เท่าที่ควร ด้วยสาเหตุ 3 ประการ
- ผู้บริหารที่รับผิดชอบ ยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง เมื่อหลายปีก่อนช่วงเริ่มต้นที่มีปัญหาดังกล่าวเฉพาะในกทม.เพิ่มมากขึ้น ผู้บริหารจะบอกว่าอีกไม่นานปัญหานี้ก็จะค่อยๆ หมดไป เป็นไปตามเทศกาลปลายปีต่อเนื่องกับต้นปี 
- ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ยังไม่จริงจังเท่าที่ควร ยังไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 
- ผู้บริหารที่รับผิดชอบ ไม่พยายามหามาตราการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งที่มีวิธีการและมาตรการอื่นๆ อีกมากมาย 
พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศสงครามฝุ่น PM2.5