'แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่' แล้วเสร็จ ในสัปดาห์นี้
ความคืบหน้า 'การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่' หลัง กกต. พิจารณาความเห็นจาก ผอ.กกต.จังหวัด เป็นวันที่ 2 มีรายงานว่า จะสามารถส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในสัปดาห์นี้
ความคืบหน้า การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ หลังปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศไปเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ผอ.กกต. ทั้ง 77 จังหวัดได้ส่ง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดประกอบการพิจารณาเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ของจังหวัด รวบรวมสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด พร้อมผลการพิจารณาข้อเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ของจังหวัดอย่างน้อยสามรูปแบบเรียงตามลำดับความเหมาะสมต่อ กกต. ตามระเบียบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ข้อ 46 แล้ว ตั้งแต่วานนี้
โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีกำหนดพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ในช่วงบ่าย ของวันที่ 14 มีนาคม เข้าสู่วันที่สองของการพิจารณา มีรายงานว่า ภายในสัปดาห์นี้ กกต.จะส่งเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาได้
หากมีการยุบสภา ตามที่รับมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ธนกร วังบุญคงชนะ บอกไว้ 20 มีนาคม 2566 และมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว ขั้นตอนที่จะตามมาคือ
- กกต. ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป กรณีมีการยุบสภา ซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 45 วัน และไม่ช้าเกิน 60 วัน
- กำหนดวันรับสมัคร ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา
- หลังจากนั้น จะมีการเปิดรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นเวลา 5 วัน
- ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ม.46) ภายใน 7 วัน นับแต่มีการปิดรับสมัคร
- กกต.ต้องประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง(ม.30) และประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ม.36 ) ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน
- ส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน(ม.36)/สรรหา,แต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง(ม.19) ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน
- ส่วนการแจ้งเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง (ม.30) , แจ้งเพิ่มชื่อ - ถอนชื่อ ( ม.37, ม.38 ) ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (ม. 33 ) ภายใน 7 วัน ก่อนการเลือกตั้ง
- ต้องกำหนดให้มีวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง/นอกเขตเลือกตั้ง 1 วัน