นับถอยหลังเลือกตั้งใหม่ ยังมีข้อสงสัย ทำไมต้อง 'ยุบสภา'
การ 'ยุบสภา' ก่อนครบวาระเพียง 2-3 วัน ทำให้มีคำถาม เรื่องความเหมาะสม แม้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่สภาก็ปิดสมัยประชุมไปแล้ว
ประเทศไทยมีการยุบสภามาแล้ว 14 ครั้ง ไม่มีครั้งใดที่ การยุบสภา จะมีเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการขยับขยายทางการเมือง เหมือนกับการเลือกตั้ง66 เช่นที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ไว้
ที่สำคัญ คือมีพระราชกฤษฎีกา ปิดสมัยประชุมไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และสภาจะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม หรือวันพฤหัสบดีนี้
ย้อนประวัติศาสตร์การยุบสภา นับตั้งแต่ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข
- ครั้งที่ 1 พันเอก พระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2481 เนื่องจากรัฐบาลแพ้โหวตญัตติขอแก้ไขข้อบังคับการประชุมฯ
- ครั้งที่ 2 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ได้มีพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งต่ออีก 2 ครั้ง เพราะอยู่ในตำแหน่งนานเกินไป
- ครั้งที่ 3 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516 จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
- ครั้งที่ 4 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2519 เนื่องจากเกิดปัญหาความแตกแยกและขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมในขณะนั้นอย่างรุนแรงอันเป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน
- ครั้งที่ 5 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 เนื่องจากเกิดความ ขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- ครั้งที่ 6 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 เนื่องจากสภาลงมติไม่รับหลักการพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ.2529
- ครั้งที่ 7 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื่องจากรัฐบาล เห็นว่าเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาล
- ครั้งที่ 8 นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2535 การยุบสภาในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช. ซึ่งทำให้เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม
- ครั้งที่ 9 นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 สาเหตุจาก การอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณี สปก. 4-01
- ครั้งที่ 10 นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27กันยายน พ.ศ. 2539 จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องสัญชาติของนาย บรรหาร ศิลปอาชา
- ครั้งที่ 11 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ภายหลังแก้วิกฤติฟองสบู่ 2540
- ครั้งที่ 12 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ภายหลังเกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมือง
- ครั้งที่ 13 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หลังจากเข้ามาคลี่คลาย ปัญหาทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมโดยเฉพาะเรื่องการเมือง ประกอบกับรัฐสภาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550 แล้ว
- ครั้งที่ 14 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมจาก หลายภาคส่วนร่วมกันเดินขบวนกดดันเจ้าหน้าที่รัฐตามสถานที่ราชการต่าง ๆ คัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พ.ศ. 2556
ยุบสภาให้นักการเมืองย้ายพรรค ?
หากสภาอยู่ครบวาระ กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง 45 วัน นับจากวันที่สภาครบวาระ ( 23 มีนาคม ) ต้องถือประกาศ กกต.ที่ระบุให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 7 พฤษภาคม 66 ซึ่งผู้สมัครฯ สส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง 90 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง หรือ ต้องสังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ไม่เกินวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 66 ที่ผ่านมา
แต่หากมีการยุบสภา รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้ง ไม่เร็วไปกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศยุบสภา เช่น
หากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาวันที่ 20 มีนาคม กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง ไม่เร็วไปกว่า วันที่ 12 พฤษภาคมและไม่ช้าไปกว่าวันที่ 27 พฤษภาคม และผู้สมัคร สส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองเดียว ไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือ มีเวลาอีก 15 วัน นับจากวันที่ประกาศยุบสภาในราชกิจจานุเบกษา