'เลือกตั้ง' วันไหน ฟังคำอธิบายจาก 'สมชัย ศรีสุทธิยากร'
'สมชัย ศรีสุทธิยากร' อดีตกรรมการการเลือกตั้ง อรรถาธิบาย 'เลือกตั้งวันไหน' หลังยุบสภา คาดรับสมัครสส. 3 - 7 เม.ย.ยี้
ยุบสภาแล้ว เลือกตั้งวันไหน ฟังจาก สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เรียงลำดับไว้พอสังเขป
สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้งโพสต์เฟซบุ๊ก อธิบายขั้นตอนที่จะตามมาหลังยุบสภาตามลำดับดังนี้
ยุบสภาแล้วเลือกตั้งวันไหน
- รอ กกต.ประชุมกันภายใน 5 วัน เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งและปฏิทินงาน น่าจะมีความชัดเจนภายในวันศุกร์ที่ 24 มี.ค. 2566
- คาดหมายวันเลือกตั้งน่าจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566 และเลือกตั้งล่วงหน้า (เฉพาะนอกเขต) วันที่ 7 พ.ค. 2566
- การรับสมัครคาดว่าจะมีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หลังวันยุบสภา โดยคาดว่า จะรับสมัครเขต วันที่ 3-7 เม.ย.2566 และ รับสมัครบัญชีรายชื่อ 4-6 เม.ย. 2566
- พรรคการเมืองที่ประสงค์ส่งผู้สมัคร ต้องทำ primary vote ตามวิธีการที่ กกต. กำหนด และออกหนังสือรับรองแก่ผู้สมัคร ให้เรียบร้อยก่อนวันสมัคร
เมื่อยุบสภา แล้วคดีทุจริตเลือกตั้งในช่วง 180 วัน จะโยนทิ้งเลยหรือไม่ อดีต กกต.อธิบายว่า เป็นความเข้าใจของนักการเมือง พรรคการเมือง และ เจ้าหน้าที่ กกต.บางคนว่า พอยุบสภา คดีทำผิดกฎหมายเลือกตั้งจะเริ่มนับตั้งแต่วันยุบสภา ดังนั้น การทำผิดกฎหมายก่อนหน้านี้ถือเป็นการยกเลิกกันไป นับหนึ่งกันใหม่
ความเข้าใจดังกล่าว ถูกเพียงครึ่งเดียว โดยหากผู้กระทำผิดไม่ได้เป็นผู้สมัคร ก็ไม่มีความผิด แต่หากเขาสมัครเป็นผู้สมัครจะเขต หรือ บัญชีรายชื่อ กกต.ได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียง ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 ข้อ 18/1 บังคับใช้แก่ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งด้วย
แปลง่าย ๆ ว่าหากทำผิดวันนั้น วันนี้ไม่ได้เป็นผู้สมัครก็แล้วไป แต่พอมีกฤษฎีกาเลือกตั้ง มีการรับสมัคร แล้วคุณเป็นผู้สมัคร ก็ไม่รอด มาตรา 132 ใน พ.ร.ป. สส. 2561