ข่าว

แนะทางออกปัญหา 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' และ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว'

แนะทางออกปัญหา 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' และ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว'

21 มี.ค. 2566

แก้ม่ยาก ปัญหา 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' และ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว' ฟังจากผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบจราจรเมืองใหญ่ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบจราจรเมืองใหญ่แนะเปิดโอกาสนักลงทุนต่างชาติร่วมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มหลังศาลปกครองพิพากษาและให้ BTSC เป็นผู้รับสัมปทานลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมถึงระบบอาณัติสัญญาณ สื่อสาร และระบบตั๋ว และให้บริการเดินรถ เพื่อให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่องได้

 

เสวนา รถไฟฟ้าสายสีส้มและสีเขียวมีปัญหา หากพรรคการเมืองของท่านได้เป็นรัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร โดย ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบจราจรเมืองใหญ่แนะแนวทางการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มและรถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้ดังนี้

 

 

ทางออกรถไฟฟ้าสายสีส้ม

 

ในส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ควรทางแก้ปัญหาการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) 2 ทางเลือก ซึ่งต้องรอผลการพิจารณาคดีของศาลปกครอง หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าทั้ง 2 คดี ชอบด้วยกฎหมาย และ รฟม. สามารถชี้แจงต่อสังคมได้

 

รฟม. ควรเจรจาต่อรองกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ชนะการประมูลครั้งที่ 2 ให้ลดรับเงินสนับสนุนสุทธิจาก รฟม. จาก 78,287.95 ล้านบาท เหลือใกล้เคียงกับเงินสนับสนุนสุทธิที่ BTSC ขอรับจาก รฟม. ในการประมูลครั้งที่ 1 คือ 9,675.42 ล้านบาท หาก BEM ไม่ยอม ขอเสนอให้ รฟม. ยกเลิกการประมูลครั้งที่ 2 แล้วเปิดประมูลใหม่

 

หากไม่ต้องการรอผลการพิจารณาขอศาลปกครอง การยกเลิกการประมูลครั้งที่ 2 แล้วเปิดประมูลใหม่ จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

 

 

ทางออกรถไฟฟ้าสายสีเขียว

 

ดร.สามารถ มองว่าปัญหาของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต) คือหากผู้เดินรถไม่ใช่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  หรือ BTSC ผู้โดยสารจะต้องเปลี่ยนขบวนรถ ไม่สามารถเดินทางแบบต่อเนื่องได้ และจะต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน กทม. (โดยคณะกรรมการตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562)

จึงแก้ปัญหาโดยต้องการให้ BTSC เป็นผู้รับสัมปทานลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ สื่อสาร และระบบตั๋ว และให้บริการเดินรถ เพื่อให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่อง และไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ทั้งนี้ กทม. ต้องรับโอนหนี้งานโยธาส่วนต่อขยายที่ 2 มาจาก รฟม.

 

ปัญหาที่ตามมาก็คือ กทม. ไม่มีเงินชำระหนี้ให้ BTSC และ รฟม. ซึ่งถึงวันนี้ กทม. เป็นหนี้ BTSC เกือบ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้จากค่าจ้างเดินรถและค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลส่วนต่อขยาย อีกทั้ง ยังมีหนี้จากเวลานี้จนถึงปีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคือปี พ.ศ. 2572 อีกก้อนใหญ่

 

กทม. (โดยคณะกรรมการตามคำสั่ง คสช.) จึงเจรจากับ BTSC ให้ BTSC รับหนี้ทั้งหมดแทน กทม. แลกกับการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักให้ BTSC เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2572-2602 โดยมีเงื่อนไขให้ BTSC แบกภาระหนี้สินทั้งหมดที่ กทม. มีอยู่กับ BTSC และ รฟม. พร้อมกับแบ่งรายได้ให้ กทม. ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท

กำหนดให้ BTSC เก็บค่าโดยสารในอัตรา 15-65 บาท การแก้ปัญหาโดยวิธีนี้ ผู้ว่าฯ กทม. คนที่แล้ว (ผู้ว่าฯ อัศวิน) เห็นด้วย แต่ผู้ว่า กทม. คนปัจจุบัน (ผู้ว่าฯ ชัชชาติ) ไม่เห็นด้วย

 

แนวทางการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวจึงมี 2 ทางเลือกคือ

ทางเลือกที่ 1: ชำระหนี้ให้ BTSC แล้วเปิดประมูลหาผู้เดินรถไฟฟ้าใหม่ก่อนถึงปี พ.ศ. 2572

ทางเลือกที่ 2: หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักให้ BTSC เช่นเดียวกับที่ รฟม. แก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โดยการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนหลักให้ BEM