ข่าว

สถานที่ปิดประกาศ-ติดแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง66 ดูประกาศกกต.ชัดๆที่นี่

สถานที่ปิดประกาศ-ติดแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง66 ดูประกาศกกต.ชัดๆที่นี่

21 มี.ค. 2566

ตรวจสอบประกาศกกต. กําหนดสถานที่ปิดประกาศ และติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ดูรายละเอียดได้ที่นี่

“ป้ายหาเสียงเลือกตั้ง” ช่องทางอะนาล็อกแบบบ้านๆที่สัมผัสจับต้องได้ ในการหาเสียงเลือกตั้งของนักการเมืองในทุกระดับทั้งเลือกประธานนักเรียนยันการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อหาผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล

 

การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566 ป้ายหาเสียงพรึ่บเต็มฟุตบาท เสาไฟฟ้า ต้นไม้ตามข้างถนนจำนวนมากตั้งแต่ยังไม่ทันได้ยุบสภาด้วยซ้ำ 

 

แต่รู้ไหมว่า “ป้ายหาเสียงเลือกตั้งส.ส.” รอบนี้ มีเงื่อนไข วิธีการติดตั้ง อะไรทำได้ ไม่ได้อย่างไรบ้าง

คมชัดลึก หาคำตอบมาให้จาก “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566” โดยแยกออกเป็นในส่วนของประกาศ และ ป้าย ดังนี้ 

 

การจัดทำประกาศ
 

  1. ให้จัดทำประกาศโดยกำหนดเป็นแนวตั้งมีขนาดความกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และขนาดความสูงไม่เกิน 42 เซนติเมตร พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวนและวันเดือนปีที่ผลิตไว้บริเวณที่เห็นได้ชัดเจนของประกาศ
  2. ให้ผู้สมัครจัดทำประกาศได้ไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น
  3. ให้พรรคการเมืองจัดทำประกาศได้ไม่เกิน 2 เท่าของจจำนวนหน่วยเลือกตั้งในจังหวัดนั้น
  4. ให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองปิดประกาศตามที่ทำการพรรคการเมืองหรือสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือศูนย์อำนวยการการเลือกตั้ง ได้สถานที่ละ 1 แผ่น
  5. วิธีการปิดประกาศให้เป็นไปตามที่หัวหน้าหน่วยงานกำหนด ทั้งนี้ การปิดประกาศจะต้องไม่ปิดทับซ้อนกับประกาศของผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองอื่น 

นอจากนี้ประกาศกกต. ยังระบุด้วยว่า การจัดทำประกาศสามารถระบุ

  • ชื่อ
  • รูปถ่าย
  • หมายเลขประจำของตัวผู้สมัคร
  • ชื่อของพรรคการเมือง
  • สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง
  • นโยบายของพรรคการเมือง
  • คติพจน์ คำขวัญ
  • ข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง
  • ข้อมูลเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือคิวอาร์โค้ด เป็นต้น
  • นอกจากภาพของผู้สมัครแล้วสามารถใส่ภาพของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองได้เท่านั้น

 

การกำหนดสถานที่และจัดสถานที่ปิดประกาศ

  1. ให้นายอำเภอกำหนดสถานที่และจัดสถานที่ปิดประกาศให้แก่ผู้สมัครทุกคนในเขตเลือกตั้งและพรรคการเมืองทุกพรรค ณ ที่ว่าการอำเภอ
  2. ให้ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดสถานที่และจัดสถานที่ปิดประกาศให้แก่ผู้สมัครทุกคนในเขตเลือกตั้งและพรรคการเมืองทุกพรรค ณ ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเขต แขวงหมู่บ้าน หรือชุมชน
  3. ให้หัวหน้าหน่วยงานกำหนดสถานที่และจัดสถานที่ปิดประกาศให้แก่ผู้สมัครทุกคนในเขตเลือกตั้งและพรรคการเมืองทุกพรรค ณ ที่ตั้งของหน่วยงานตามความเหมาะสม

 

การจัดทำแผ่นป้ายให้ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง

  1. ให้จัดทำแผ่นป้ายที่มีขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และขนาดความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้บริเวณที่เห็นได้ชัดเจนของแผ่นป้าย
  2. ให้ผู้สมัครจัดทำแผ่นป้ายได้ไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น
  3. ให้พรรคการเมืองจัดทำแผ่นป้ายได้ไม่เกิน 1 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในจังหวัดนั้น
  4. ให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองติดแผ่นป้ายตามสถานที่ที่กำหนด
  5. การติดแผ่นป้ายจะต้องไม่ติดทับซ้อนหรือปิดบังแผ่นป้ายของผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองอื่น

 

สถานที่ที่จะติดแผ่นป้าย

  • ต้องเป็นบริเวณพื้นที่อันเป็นสาธารณสถาน เช่น บริเวณถนนสาธารณะ ที่สาธารณะ หรือสาธารณสถานอื่นของรัฐที่เห็นสมควรเพื่อติดแผ่นป้ายให้พอเพียงและเท่าเทียมกัน
  • คำนึงถึงความเหมาะสม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ความปลอดภัย ความมั่นคง แข็งแรง
  • ไม่บดบังทัศนียภาพและทัศนวิสัยที่ดีไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน หรือยานพาหน
  • จะต้องไม่เป็นการกีดขวางทางสัญจร หรือการจราจร รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการหรือทรัพย์สินของประชาชน เช่น ตอกหรือยึดแผ่นป้ายหรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้เกิดความเสียหายหรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ต้นไม้หรือทรัพย์สินอื่นใด  
  • ผู้สมัครและพรรคการเมืองอาจติดตั้งแผ่นป้ายได้ ณ ที่ทำการพรรคการเมืองหรือสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือศูนย์อำนวยการการเลือกตั้งได้เขตเลือกตั้งละ 1 แผ่น  ให้มีขนาดความกว้างไม่เกิน 400 เซนติเมตร และขนาดความยาวไม่เกิน 750 เซนติเมตร

 

บทลงโทษเมื่อติดปิดประกาศ-แผ่นป้ายไม่ถูกต้อง

  • กรณีผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองติดปิดประกาศและแผ่นป้ายไม่ถูกต้องหรือเกินขอบเขตที่กำหนดตามประกาศนี้ให้หัวหน้าหน่วยงานมีอำนาจสั่งผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และแจ้งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบโดยเร็ว
  • ในกรณีผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไม่ดำเนินการแก้ไขภายในกำหนดเวลาให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีอำนาจรื้อถอน หรือปลดออก หรือสั่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการโดยให้คิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองนั้น และรายงานให้คณะกรรมการทราบ 
  • ทั้งนี้ คณะกรรมการอาจนำมาเป็นเหตุในการสืบสวนหรือไต่สวนตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาดได้

 

คลิก อ่านรายละเอียดฉบับเต็มที่นี่