ศาลฎีกา พิพากษายกฟ้อง ‘ชาญชัย’ 8 คดีรวด
ศาลฎีกา พิพากษายกฟ้อง ‘ชาญชัย’ 8 คดีรวด หลังถูกกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ฟ้องหมิ่นประมาท ยกยวง ศาลชี้ชัด ทั้งหมด ล้วนเป็นการแถลงข่าวด้วยข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ
22 มี.ค. 2566 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย น.ส. มรกต อิสระเสนารักษ์ ในฐานะผู้ช่วยทำคดีและทีมทนายความเดินทางไปที่ศาลอาญา(ศาลฎีกา) เพื่อฟังคำตัดสินคดีที่กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ฟ้องนายชาญชัย ในคดีหมิ่นประมาทในหลายกรณีรวม 8 คดี โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว สรุปให้ยกคำฟ้องทั้ง 8 คดี ที่กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฟ้องร้องนายชาญชัย
โดยมีข้อความตอนหนึ่งในคำพิพากษาขอวศาลฎีกาว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การแถลงข่าวของนายชาญชัย เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง โดยสาระสำคัญในการแถลงข่าวเป็นการบอกกล่าวถึงข้อเท็จจริงในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของบริษัท ทอท. และประเทศชาติ
ทั้งการแถลงข่าวของนายชาญชัยให้สื่อมวลชนและประชาชนในสังคมได้รับทราบ ยังถือเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการบริหารของ ทอท. เพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการให้ถูกต้อง อันเป็นการปกปักรักษาผลประโยชน์ของบริษัท ทอท. และประเทศชาติอีกทางหนึ่ง
การแถลงข่าวของนายชาญชัย จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ทั้งเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) การแถลงข่าวของนายชาญชัยทั้ง 5 ประการ จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น (คำพิพากษาหน้า 44 )
นายชาญชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ทั้ง8 คดีดีงกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง โดยได้ยกกรณีตัวอย่างขึ้นมาประกอบ 3 กรณี คือ 1.กรณีที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) ขยายระยะเวลาสัญญาให้ บริษัทคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และ บริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ เป็นไปโดยไม่ชอบ เพราะโครงการมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จำเป็นต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี( ครม. ) เพื่ออนุมัติเท่านั้น เพราะถือว่าเข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 (คำพิพากษา หน้าที่ 40-41)
2. กรณีการขายสินค้าปลอดอากร โดยไม่ได้นำสินค้าออกไปยังต่างประเทศ ทั้งที่การขายสินค้าปลอดอากร ต้องขายโดยส่งออกไปต่างประเทศเท่านั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายชาญชัย ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(สปท.) ได้รับฟังข้อมูลจากผู้แทนกรมศุลกากรว่า บริษัทคิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ขายสินค้าปลอดอากรที่ซอยรางน้ำ แล้วให้ผู้ซื้อกลับมารับสินค้า ได้ที่อาคารผู้โดยสารขาเข้า ถือว่า ไม่ถูกต้อง และต้องเอาผิดกับบริษัทคิงเพาเวอร์ ฯ อันเป็นการทราบจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายชาญชัย ในฐานะอนุกมธ. ปราบทุจริต ของสปท. ทำให้เชื่อโดยสุจริตว่า เป็นเรื่องที่เป็นความจริง (คำพิพากษาหน้าที่ 41-42)
3.ศาลฎีกา รับฟังว่า จากเหตุข้อ 1. การต่อสัญญาโดยฝ่าฝืนทำผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2535 และข้อ2.การขายสินค้าปลอดอากรโดยไม่เชื่อมระบบ POS (พ้อย ออฟ เซล)ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบยอดการขายสินค้าในแตละวันได้ ส่งผลกระทบถึงการเรียกเก็บผลตอบแทนของ ทอท. ในอัตรา 15% จากยอดขายสินค้า อาจได้ไม่ครบจำนวน และการขายสินค้าที่ซอยรางน้ำ แล้วไปส่งมอบให้ลูกค้าที่ท่าอากาศยานฯ โดยที่ ทอท. ไม่ได้รับส่วนแบ่ง 15% เต็มจำนวนตามสัญญา ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ ทอท. และรัฐ ซึ่งการขายสินค้าโดยไม่นำออกต่างประเทศจริง แต่กลับนำสินค้าเข้ามาในประเทศ ถือเป็นการหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรตามกฎหมาย เหตุการณ์ทั้งหมด ล้วนส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อ ทอท. และประเทศชาติโดยรวม ( คำพิพากษา หน้าที่ 42-43)