ข่าว

กม.ฉบับใหม่ ลูกจ้างปฏิเสธรับการติดต่อจาก 'นายจ้าง' หลังเลิกงานได้

กม.ฉบับใหม่ ลูกจ้างปฏิเสธรับการติดต่อจาก 'นายจ้าง' หลังเลิกงานได้

23 มี.ค. 2566

กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ อนุญาตให้ลูกจ้างปฏิเสธรับการติดต่อจาก 'นายจ้าง' หลังเลิกงานได้ เว้นแต่ยินยอมเอง รวมถึงสนับสนุน WFH เริ่ม 18 เม.ย. นี้

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ที่กำหนดห้ามนายจ้างติดต่อหลังเวลาเลิกงาน ว่า เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่มีการตกลงกันแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าในทางใด ๆกับนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้าก่อน

นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนการทำงานแบบเวิร์คฟอร์มโอม (work from home) โดยทำงานจากที่พักอาศัยของลูกจ้าง หรือจากสถานที่อื่นๆ ซึ่งอยู่นอกสถานประกอบการของนายจ้างมากขึ้น ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวได้เพิ่มเติมบทบัญญัติที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของลูกจ้างให้ได้ความคุ้มครอง เป็นประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง ตลอดจนมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาจราจร ลดการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงด้วย

 

โดยได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2566 และจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันประกาศ หรือ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.2566 เป็นต้นไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ได้เพิ่มบทบัญญัติ มาตรา 23/1 ซึ่งมีสาระสำคัญให้นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงให้ลูกจ้างทำงานในทางการที่จ้างที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติงานนอกสถานประกอบการหรือนอกสำนักงานของนายจ้างไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัยของลูกจ้าง หรือตกลงให้ลูกจ้างทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใดๆ ได้

 

ในการตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างนั้น อาจตกลงให้มีรายละเอียด เช่น ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา การลา ขอบเขตหน้าที่ของลูกจ้าง การกำกับควบคุมของนายจ้าง ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็น อันเนื่องจากการทำงาน

 

ทั้งนี้ เมื่อมีบทกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้ว ลูกจ้างซึ่งทำงานที่บ้าน หรือที่พักอาศัย หรือทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใด ๆ มีสิทธิและอยู่ภายใต้การคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานต่างๆ เช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการหรือสำนักงานของนายจ้างด้วย

 

อ่านกฎหมายฉบับเต็ม : https://bit.ly/3ncTdr6

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี