ข่าว

ลดเหลื่อมล้ำ 'ชทพ.' ยกระดับ 'สหกรณ์ออมทรัพย์'กว่า 6,000 แห่ง

ลดเหลื่อมล้ำ 'ชทพ.' ยกระดับ 'สหกรณ์ออมทรัพย์'กว่า 6,000 แห่ง

23 มี.ค. 2566

‘ชทพ.’ เล็งยกระดับ ‘สหกรณ์ออมทรัพย์’ กว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นสถาบันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมตั้งแต่ฐานราก หวังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ที่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จ.นนทบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมด้วย นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ทีมเศรษฐกิจพรรคชาติไทยพัฒนา เข้าร่วมสัมมนาหัวข้อ “กฎหมายที่จำเป็นต่อการบริหารงานสหกรณ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน” ภายในงานประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2566 ของเขตพื้นที่สหกรณ์สมาชิกกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2

นายวราวุธ กล่าวว่า พี่น้องสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ รวมถึงสหกรณ์ทั่วไป คือ พลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนสังคมและประเทศไทย และเป็นโอกาสที่ดี ที่พรรคชาติไทยพัฒนา ได้มารับฟังปัญหาและข้อเสนอต่าง ๆ พร้อมยืนยันว่าพรรคจะนำแนวทางการทำงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ มาใช้ในการทำงานและพัฒนาประเทศ ตามแนวทางของพรรค คือ “รับฟัง ทำจริง”

.

นายชาติชาย กล่าวว่า ประเทศไทยมีสหกรณ์ออมทรัพย์ 7 ประเภท มากกว่า 6,000 แห่ง มีสมาชิกกว่า 10 ล้านคน แนวทางการทำงานของสหกรณ์ สามารถนำมาทำเป็นนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ เพราะ สมาชิกของสหกรณ์ ก็คือประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ เข้าใจความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี

เวทีสัมมนาหัวข้อ “กฎหมายที่จำเป็นต่อการบริหารงานสหกรณ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน”

นายวราวุธ ศิลปอาชา และ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ทีมเศรษฐกิจ ชทพ. เข้าร่วมสัมมนาหัวข้อ “กฎหมายที่จำเป็นต่อการบริหารงานสหกรณ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน”

 

"สหกรณ์ถือเป็นสถาบันที่เก่าแก่ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2458 หรือ 107 ปีที่แล้ว มีความหยั่งรากลึก และเป็นสถาบันที่มีเงินกองทุนมากกว่า 3.3 ล้านล้านบาท ดังนั้นเราจะมีเงินทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในมิติต่าง ๆ ที่จะเกิดผลตอบแทนให้กับประเทศไทย สังคมไทย และสมาชิกสหกรณ์ ที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ” นายชาติชาย กล่าว

 

แนวทางที่จะนำเสนอให้พรรคชาติไทยพัฒนา คือการนำสหกรณ์ออมทรัพย์เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกมิติ ไม่ใช่แค่เรื่องการเกษตร การออมทรัพย์ การค้า หรือการประมง แต่สหกรณ์เป็นสถาบันที่มีความรู้ และสามารถเข้าไปร่วมทุน หรือช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนได้ทุกกลุ่ม

 

โดยยกตัวอย่างการท่องเที่ยวในท้องถิ่น สหกรณ์ก็สามารถเข้าไปดูแลได้ แนวทางดังกล่าวจะทำให้สหกรณ์ที่มีอยู่ทั่วประเทศสามารถเข้าไปดูแล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ถึงฐานรากของสังคมไทย

ผู้เข้าร่วมสัมมนาหัวข้อ “กฎหมายที่จำเป็นต่อการบริหารงานสหกรณ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน”