มุมมอง 'ทิชา ณ นคร' หลังเลือกตั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำแก้ไม่หาย
'ทิชา ณ นคร' เชื่อ หลังเลือกตั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำยังอยู่ ซ้ำร้ายนักการเมืองใช้ความจนเป็นจุดขาย เหยียบเข้าสภา แซะพรรคการเมืองมัวแห่ออกนโยบาย แจก แถม ให้ แต่ไม่กล้าปฏิรูประบบราชการ กลัวฐานเสียงหาย หวัง 'นายกรัฐมนตรีคนที่ 30' ทันสมัย ไม่บ้าอำนาจ
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก เปิดเผยกับคมชัดลึกถึงประเด็นหลังเลือกตั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำจะลดลงหรือไม่ว่า ขณะนี้ดูเหมือนประชาชนต้องแสดงความเป็นคนจนอยู่ พอหลังการเลือกตั้งเราจะต้องจนกันให้จริง จนกันอย่างหนัก และเราก็จะกลายเป็นคนที่รอรับทุกอย่าง มีบัตรในลักษณะอื่นๆออกมาเพื่อยืนยันว่า คนไทยที่ยากจน
เช่นนี้แล้วจะลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไรในเมื่อความจนถูกนำมาขายทางการเมืองไปแล้ว ซ้ำไปกว่านี้ หากพิสูจน์ได้ว่านโยบายความจนขายได้ ทำให้พวกเขาเข้าไปนั่งในสภาได้ ก็จะถูกใช้แบบนี้ไปอีกนานหลายสิบปี ดังนั้นเป็นเรื่องที่คนไทยจะต้องทำความเข้าใจว่า "เราและความจนไม่ใช่สินค้าของพรรคการเมือง"
ส่วนก่อนการเลือกตั้งจะเห็นว่า พรรคการเมืองพยายามนำเสนอนโยบายที่จะซื้อใจ พยายามที่จะให้ แต่ไม่ได้พูดถึงว่า ระยะยาวทำอย่างไร หรือใช้งบประมาณเท่าใด ทุกวันนี้ก็ไม่สามารถหวังพึ่งพรรคการเมืองได้ รวมถึงกลุ่มข้าราชการที่เป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ อยู่กับปัญหามาตลอด ทั้ง 2 สิ่งนี้ ไม่ได้ทำให้ประเทศนี้ทรงพลังหรือเปลี่ยนไปหรือตอบโจทย์ปัญหาในอดีตไม่มีเลย ทำให้สงสัยว่าหลังการเลือกตั้งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในเมื่อก่อนเลือกตั้งก็พูดแต่เรื่องของการแจก แถม ให้ ประชานิยม
แน่นอนหลายเรื่องเห็นว่าจำเป็นอยู่แล้ว เช่น หลักประกันค่าตอบแทนเงินเดือน แต่อีกมุมนึงก็ไม่ได้ถูกทั้งหมดโดยเฉพาะนโยบายสาธารณะที่มีวิสัยทัศน์และที่สำคัญบางพรรคยังพูดถึงการที่จะทำให้แสงสว่างกับสังคม แต่ตรงกันข้าม กลับเพิ่มด้านมืดของสังคม เช่น นโยบายกัญชา เราเชื่อเรื่องกัญชาทางการแพทย์ แต่ต้องการจัดการดีกว่านี้ไม่ใช่ทำให้กัญชากลายเป็นของที่อยู่ในตลาดทุกคนเข้าถึงง่าย ซึ่งมองว่านี่คือ วิสัยทัศน์ของนักการเมืองหรอ
ส่วนนโยบายหาเสียงหลายพรรคคไม่ได้แหลมคมหรือทำให้รู้สึกว่าประชาชนมีความหวังเลย เน้นการแจก แถม ให้ ทำให้ทุกพรรคออกนโยบายคล้ายกัน ยังไม่เห็นความกล้าหาญของพรรคไหนที่กล้าประกาศชัดเจน จะทำให้อำนาจรัฐ ราชการเล็กลง เพราะจำนวนข้าราชการที่เลือกตั้งมีถึงหลักแสนหลักล้านคน เหมือนเป็นการเมืองยุคเก่าๆ ทำไมไม่พูดถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงๆ
ส่วนอนาคตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หวังว่า จะเป็นคนที่ไม่เชื่อว่าอำนาจเป็นสิ่งที่นำไปสู่การแก้ปัญหา หากคิดเช่นนั้นอยากให้คนเหล่านี้กลับไปอยู่บ้านอย่ามาปรากฏตัวในพื้นที่ทางการเมืองเลย เพราะการเมืองสมัยใหม่ต้องการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและยอมรับความคิดที่แตกต่าง ดังนั้นคนที่จะมาเป็นผู้นำทางการเมืองมาตัดสินใจนโยบายสาธารณะจะต้องเป็นคนที่แหลมคมก้าวทันโลกอย่างกลมกลืน ไม่ใช่อะไรก็ถามแต่ข้าราชการ หรือ อะไรก็คิดว่าอำนาจแก้ได้ หรือ กฎหมายจัดการได้ทันที คนแบบนี้จัดอยู่ในประเภทที่ใช้คำว่า "ล้าหลัง" ที่ผ่านมาประเทศไทยมีรัฐบาลล้าหลัง เพราะเชื่ออำนาจนิยมจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ความจริงคือการนำปัญหาไปซุกไว้ที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น