ข่าว

'ชัยเกษม' นั่งปธ.คณะกรรมการแก้ปัญหาสังคม-ความเหลื่อมล้ำ

'ชัยเกษม' นั่งปธ.คณะกรรมการแก้ปัญหาสังคม-ความเหลื่อมล้ำ

27 มี.ค. 2566

'พรรคเพื่อไทย' เปิดตัวคณะกรรมการด้านประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม และความเสมอภาคเท่าเทียม ขณะที่ 'ภูมิธรรม' ขอ 310 เสียง ตัดโอกาส 'บิ๊กตู่' กลับมา

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 พรรคเพื่อไทย เปิดตัว "คณะกรรมการด้านประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม และความเสมอภาคเท่าเทียม"  ประกอบด้วย นายชัยเกษม นิติสิริ​ ประธานยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรค เป็นประธานคณะกรรมการ , นายชูศักดิ์  ศิรินิล​​​ รองหัวหน้าพรรค เป็น รองประธานกรรม , นายภูมิธรรม  เวชยชัย​​ รองหัวหน้าพรรค เป็น กรรมการ ,นายจาตุรนต์  ฉายแสง​​ แกนนำเพื่อไทย เป็น กรรมการ เป็นต้น

​​​นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สภาพปัญหาด้านสังคมของประเทศขณะนี้ เช่น การเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบท เป็นสังคมเมือง การพัฒนาด้านเทคโนโลยี ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด อาชญากรรม การทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาของรัฐธรรมนูญและระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นสองมาตรฐาน และปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม เป็นต้น

ปัญหาดังกล่าวนับวันจะมีความซับซ้อนและรุนแรง จำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขด้วยการปฏิรูปสังคม ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นประชาธิปไตยและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้สังคมของไทยกลับมาสู่สังคมแห่งความสมานฉันท์ อยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีความเท่าเทียมกัน  ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงบุคลากรของพรรคที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาทำงาน "คณะกรรมการด้านประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม และความเสมอภาคเท่าเทียม" 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย

ด้านนายชัยเกษม กล่าวว่า คณะกรรมการดังกล่าว จะทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ สรุปสภาพสังคม และความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม กำหนดแนวทางและกระบวนการปฏิรูปสังคม ปัญหากฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพ อาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงการทุจริต วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ผลกระทบและการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เป็นต้น 

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มองว่า เมื่อเกิดปัญหาบิดเบือนสิ่งที่ควรจะเป็น นับตั้งแต่การปฏิวัติ ยินดีจะรับข้อเสนอแนะทุกอย่าง เรามีคณะทำงานชุดย่อย ที่มีความยินดีแก้ไขทุกจุด ทุกอย่างที่ไม่เป็นที่พอใจของประชาชนทุกอย่าง

นายชัยเกษม นิติสิริ​ ประธานยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง

ด้านนายชูศักดิ์ กล่าวว่า แม้จะมีการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ แต่เรายังไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควรจะเป็น เพราะผลจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศ มีรัฐบาลที่ต่อเนื่องจากการยึดอำนาจ เลือกนายกรัฐมนตรีจากคนที่ไม่ได้มาเป็น สส. หรือไม่เป็นสมาชิกพรรค การมี ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี แสดงถึงการไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นการนำประเทศนี้ไปสู่ธนาธิปไตย หรือการใช้เงินเป็นปัจจัยสำคัญในทางการเมือง 

ส่วนคณะกรรมการชุดนี้จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยติดปัญหาสำคัญคือ สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ทำประชามติให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แล้ว แต่วุฒิสภาไม่เอาด้วย ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล อาจพิจารณาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ ครม. เพื่อขอทำประชามติได้ 
 
จากกระบวนการยุติธรรมปัจจุบัน ทำให้สังคมมีปัญหา สิ่งที่น่าห่วง ประเทศกำลังจะมีอาชญากรรมแปลกๆ เช่น การสังหารหมู่ การกราดยิง ส่วนหนึ่งมาจากระบบราชการที่เสื่อมถอย และยังเต็มไปด้วยยาเสพติด อบายมุข ธุรกิจสีเทา จึงเป็นที่มาที่จะรวบรวมปัญหาเหล่านี้มาวิเคราะห์และเสนอวิธีแก้ไขต่อไปหากได้รัฐบาล

นายชูศักดิ์  ศิรินิล​​​ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ด้านนายภูมิธรรม กล่าวว่า การรัฐประหารในปี 2549 ถือเป็นต้นตอแห่งการทำลายล้างโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงทุกวันนี้ รวมไปถึงการเข้ามาบริหารแบบแฝงรูป หรือระบอบประยุทธ์  ได้ทำลายความงดงามของระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน พรรคเพื่อไทยมีความพยายามนำหลักความเสมอภาคเป็นเครื่องมือหลัก และจะขยายความไปในด้านอื่น ทั้งเศรษฐกิจและสังคม หลักความเสมอภาคในประชาธิปไตย ภายใต้หลักคิด 5  ด้าน ได้แก่ 

1.ความเสมอภาคทางการเมือง ทุกคนควรมีสิทธิทางการเมืองเท่ากัน  ไม่ควรให้รัฐใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยไม่มีหลักประกันให้กับประชาชน นักเรียน นักศึกษา ต้องไม่ถูกริดรอน กลั่นแกล้ง  โดยใช้อำนาจมากเกินไป 

2.ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ต้องมีหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับพี่น้องประชาชน ในฐานะสมาชิกในสังคม  นับตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมา มีการเป็นการปิดกั้นอำนาจทางเศรษฐกิจของประชาชน มีการเอื้อประโยชน์ให้คนส่วนน้อย ซึ่งเป็นคนของพวกเขา  คนส่วนมากของสังคมมีชีวิตที่ยากลำบาก

3.ความเสมอภาคทางสังคม ทุกคนต้องมีฐานะทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม แม้มีความแตกต่างกัน แต่ทุกคนต้องใช้ชีวิตทางสังคมอย่างเต็มที่  ปัญหาที่มีความเห็นที่แตกต่างต้องเข้าสู่สภา ไม่ใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐบาล

4.ความเสมอภาคทางกฏหมาย ที่ผ่านมาภาครัฐใช้อำนาจที่ล้นเกิน  หลายคนถูกจับ ขัง ทั้งที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย ในขณะที่อีกหลายคนได้รับการโอบอุ้ม

5.ความเสมอภาคทางโอกาส ต้องให้โอกาสทุกคนใช้อำนาจที่สุจริต มาพัฒนาความสามารถ พัฒนารายได้ในการมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างทัดเทียมกัน

หลายเรื่องที่เราเรียกร้องให้ประชาชนเลือกเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ได้ สส.ในสภา 310 เสียงขึ้นไป ให้เราชนะเด็ดขาด เพื่อสู้ สว. 250 คน มิเช่นนั้นมีโอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาเหมือนเดิม

นายภูมิธรรม  เวชยชัย​​ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย