'สุวัจน์' สนับสนุนการแก้ไข 'กฎหมาย' และ 'รัฐธรรมนูญ'ให้ทันสมัย
'สุวัจน์' สนับสนุนการแก้ไข 'กฎหมาย' และ 'รัฐธรรมนูญ' ให้ทันสมัย ในประเด็นที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อเป็นเครื่องมือฝ่าวิกฤตของชาติ
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวในงานเสวนา “วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย” โดยการดีเบต 9 พรรคการเมือง จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในหัวข้อตอบคำถามเรื่องการปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบ รวมทั้งการพัฒนาระบบการอนุมัติ อนุญาต ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจอย่างไร? ว่าในเรื่องของการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้มีผลในเรื่องของการแก้ไขนั้น เป็นเรื่องที่มีความจําเป็น
เพราะกฎหมายเป็นเครื่องมือที่สําคัญสําหรับฝ่ายบริหารในการจะสร้างความเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริบทของการแข่งขันในเรื่องของธุรกิจ การค้าเศรษฐกิจ การลงทุน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีโรคระบาด มีการจับขั้วระหว่างประเทศมหาอํานาจ มีการเคลื่อนย้ายการลงทุน มีเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขึ้น
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ลุล่วง ฉะนั้น เราต้องมีเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่นที่ดี ถ้าเราไม่มีความยืดหยุ่นเราไม่สามารถที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้ทันกับบริบทของความเปลี่ยนแปลงในวันนี้
นายสุวัจน์ กล่าวว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้อยู่แล้วมาตรา 77 ว่ารัฐจะต้องมีกฎหมายให้น้อยที่สุด และจะต้องมีการจัดการกฎหมายให้ทันสมัย ให้ยืดหยุ่นแล้วประชาชนเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญมีอยู่เรื่องหนึ่งที่อยากจะยกเป็นตัวอย่าง คือ แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีถามว่าวันนี้ เราต้องใช้แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ในการเดินหน้าประเทศไทยท่ามกลางบริบทของความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างนี้หรือ
จะบอกว่าไม่ใช่เป็นประเด็นทางกฎหมายเท่านั้น แม้แต่ประเด็นตามรัฐธรรมนูญก็ควรที่จะต้องมีการแก้ไข เพื่อสร้างกลไกล สร้างเครื่องมือในด้านการบริหารทางเศรษฐกิจการลงทุนให้กับการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ยกตัวอย่าง มีกฎหมายอยู่ฉบับหนึ่ง เป็นคําสั่งคณะปฏิวัติ ใช้ไปตั้งแต่ปี 2515 บอกไว้ว่า เวลา 14.00-17.00 น.ห้ามขายเหล้า ขายสุรา ซึ่งวันนั้นอาจมีนักท่องเที่ยวยังไม่ถึง 5 ล้านคนเลย แต่วันนี้มีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน
วันนี้การท่องเที่ยวเกือบ 20% ของ GDP เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เรายังจะบอกว่าสองโมงถึงห้าโมงเย็นห้ามขายเหล้า ขายเบียร์อยู่ สมควรที่จะมีการแก้ไขหรือไม่ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
เรื่องรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา 4 ปี นโยบายของรัฐบาลที่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าแก้ได้เรื่องเดียว คือ แก้เรื่องเลือกตั้งบัตร 2 ใบ แต่ไม่มีการแก้ไขในมาตราใดที่จะรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุนทางด้านเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ฉะนั้น เรื่องนี้มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีความยืดหยุ่นตัวในการต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ