ข่าว

7 เม.ย.ศาลนัดชี้ชะตา ‘แบ่งเขตเลือกตั้ง’ พื้นที่ กทม.

7 เม.ย.ศาลนัดชี้ชะตา ‘แบ่งเขตเลือกตั้ง’ พื้นที่ กทม.

30 มี.ค. 2566

อรรถวิชช์ เผย ศาลปกครองสูงสุด รับการไต่สวน คดี ฟ้อง กกต. ปม ‘แบ่งเขตเลือกตั้ง’ สส.กทม.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลนัดอ่านคำพิพากษา 7 เม.ย. ชี้

ช่วงบ่ายวันนี้(30 มี.ค. 66) ศาลปกครองสูงสุด ได้นัดไต่สวน 4 คดี ที่มีผู้ยื่นฟ้องขอเพิกถอนประกาศ กกต. เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสส. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ถูกฟ้องคดี อย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำโดย นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง และ เจ้าหน้าที่ของ กกต. ได้เดินทางมาร่วมไต่สวนมูลฟ้องกันอย่างพร้อมเพียง

คดีแรก เป็นคดีที่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ยื่นฟ้อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งเขตในกรุงเทพมหานคร ซึ่งศาลใช้เวลาไต่สวน นานกว่า 2 ชั่วโมง

 

จากนั้น นายอรรถวิชช์ เปิดเผยหลังการไต่สวน ว่าวันนี้ ศาลรับการไต่สวนครบถ้วน และนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 7 เม.ย.2566 ซึ่งจะทำให้ทราบว่าผลออกมาเป็นอย่างไร แต่วันนี้ ตนเองได้ยื่นข้อเท็จจริงให้ศาลหมดทุกกรณีแล้ว ว่าเป็นความจงใจของกกต. ที่จะละลายเขตเลือกตั้งใน กทม. ซึ่งมองว่าจะเป็นการทำลายระบบตัวแทน และส่อที่จะทำให้ความเป็นตัวแทนของ สส. ต่อประชาชนมีปัญหาได้

 

โดยเฉพาะ การที่ กกต. ใช้เกณฑ์สัดส่วนระหว่างราษฎร์ต่อ สส. 1 คน คือ ร้อยละ 10 แต่คำให้การของ กกต. มีการใช้เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ส่งผลให้ 33 เขต ของ กทม. มีเพียง 4 เขตที่คงเดิม และที่เหลืออีก 29 เขต นั้นเป็นเหมือนการสลายเขตเลือกตั้ง ซึ่งตนเองมองว่า ไม่ใช้วิถีทางของประชาธิปไตย

 

พร้อมยืนยัน ว่า การยื่นคำร้องครั้งนี้ จะไม่กระทบต่อวันเลือกตั้ง คือ 14 พ.ค.นี้แน่นอน แต่อาจกระทบต่อ กรอบเวลาการรับสมัครเลือกตั้ง สส. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3-7 เม.ย. 2566  ซึ่งหากจะต้องเลื่อนวันรับสมัครออกไปก็จะต้องเป็นวันที่ 14-18 เม.ย.2566 ก็ยังอยู่ในกรอบเวลา

 

ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้าก็ไม่มีผลกระทบ สามารถขยายการลงทะเบียนการเลือกตั้งล่วงหน้าออกไปได้เช่นกัน แต่ท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลไม่อาจก้าวล่วงว่าจะพิจารณาอย่างไร

 

ทั้งนี้ หากเห็นว่า กกต. มีอำนาจเบ็ดเสร็จทำได้นั้น มองว่า จะทำให้ กกต.มีอำนาจในการหั่นเขต เท่ากับว่าการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป กกต. สามารถขยับตัวเลขเกณฑ์สัดส่วนประชากรต่อ สส. 1 คนได้ตามอำเภอใจ

 

ดังนั้นสิ่งที่ตนเองทำวันนี้ ก็เพื่อทำให้ระบบประชาธิปไตยเข้มแข็ง และทำให้ความใกล้ชิดกับราษฎรไม่หายไป

 

และ หาก กกต. ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ไม่จำเป็นต้องแบ่งทั้งประเทศ อาจจะเป็นบางพื้นที่มีการยื่นคำร้อง เช่น กทม. สุโขทัย สกลนคร แต่ทั้งนี้ อาจจะกระทบต่อการทำไพรมารีโหวต ซึ่งส่วนตัวเคยเตือน กกต. ไปแล้ว

 

ส่วนกรณีที่ว่า วันที่ 3 เม.ย.จะมีการรับสมัครเลือกตั้งแล้วนั้น แต่ศาลนัดอ่านวันที่ 7 เม.ย. จะทันหรือไม่นั้น นายอรรถวิชช์ มองว่า เป็นเวลาที่กระชั้นชิด แต่ตนเองก็สู้เพื่อระบบตัวแทน และหากวิธีการนี้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทยนั้น หมายความว่าอนาคต กกต.จะแบ่งเขตเลือกตั้งได้ตามใจ

 

แต่หากศาลตัดสินให้แบ่งเขตใหม่ แล้วมีการรับสมัครเลือกตั้งไปแล้วใน กทม.นั้น ก็ต้องยกเลิกการสมัครที่ดำเนินการไป

 

สำหรับ ณ เวลา16.00น. คดีที่ 2 นายพัฒ ตั้งเบญจผล ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. สุโขทัย ในนามพรรคประชาธิปัตย์

 

คดีที่ 3 นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ฟ้องประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง จ.สุโขทัย

 

และคดีที่ 4 นายพัฒนา สัพโส ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ฟ้องประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง จ.สกลนคร ยังอยู่ระหว่างการไต่สวน