ตุลาการ ปค. เสนอ 'ยกฟ้อง' คดีกกต.แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่
ตุลาการศาลปกครอง เสนอเห็นควร 'ยกฟ้อง' คดีผู้มีสิทธิสมัครสส.กทม.-สุโขทัย-สกลนคร ฟ้องกกต. แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ เหตุผลเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86
วันนี้ 4 เม.ย. ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีนัดแรก ที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า , นายพัฒนา สัพโส ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.จ.สกลนคร , นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.จ.สุโขทัย และนายพัฒ ตั้งเบญจผล ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ จาก จ.สุโขทัย ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีขอให้เพิกถอนประกาศ กกต. เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย ลงวันที่ 16 มี.ค.2566 ตามลำดับ
โดยตุลาการผู้แถลงคดีเสนอความเห็นควรยกฟ้อง เนื่องจากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86
การพิจารณาคดีครั้งนี้ มีเพียงผู้ฟ้องคดี 3 ราย คือ นายอรรถวิชช์ , นายวิรัตน์ และนายพัฒ เดินทางมาแถลงปิดคดีด้วยตัวเอง ตรงกันว่า ประกาศ กกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่ 16 มี.ค.2566 การแบ่งเขตการเลือกตั้ง รูปแบบที่ 1 เป็นการรวมแขวง/ตำบลเพื่อกำหนดเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ โดยไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์รวมเขตปกครองครองอำเภอต่างๆ เป็นเขตการเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์ที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 มาตรา 27 กำหนด เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง และกระทบสิทธิของประชาชน สร้างความสับสนในการใช้สิทธิเลือกตั้ง และกระทบต่อจำนวนราษฎรผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ขณะที่ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจาก กกต.ขอส่งแถลงการปิคคดี ทั้ง 4 คดีเป็นลายลักษณ์อักษร
จากนั้นองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวนคดี ได้ให้ตุลาการผู้แถลงคดี ซึ่งเป็นตุลาการนอกองค์คณะแถลงความเห็นส่วนตัวที่องค์คณะจะนำไปประกอบการพิจารณาด้วย โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นในทั้ง 4 คดี ว่า
ในการเลือกตั้ง สส. ในปี 2566 นี้ มีความแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ทั้งในจำนวนราษฎร ที่กำหนดว่า ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น หรือ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี รวมทั้งส่วนของจำนวน สส.ที่เพิ่มขึ้นส่วนของ กรุงเทพมหานคร ที่เพิ่มจาก 30 คน เป็น 33 คน จ.สกลนคร เพิ่มจากเดิม 6 คน เป็น 7 คน และ จ.สุโขทัย เพิ่มจากเดิม 3 คน เป็น 4 คน ประกอบกับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (5) กำหนดว่า จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคนให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน
ดังนั้น เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต่อจำนวน สส.1 คน เป็นตัวตั้ง ทั้งในเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร สกลนคร และ สุโขทัย ตามประกาศ กกต. เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่ 16 มี.ค.2566 พบว่า จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ในพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนมาก หรือ มีจำนวนน้อย กว่าร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง 162,766 คน ต่อจำนวน สส.1 คน จนเกินไป การที่ กกต. ออกประกาศ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร 33 เขตเลือกตั้ง สกลนคร 7 เขตเลือกตั้ง และสุโขทัย 4 เขตเลือกตั้ง
จึงเป็นการประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณายกฟ้องในคดีนี้ หลังจบกระบวนนั่งพิจารณาคดี องค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวนได้แจ้งคู่กรณีทุกฝ่ายว่า ศาลนัดฟังคำพิพากษาคคีในวันที่ 7 เม.ย.นี้