พลังประชารัฐ คาดหวัง 70 - 100 ที่นั่ง สส.
ไม่มีสัญญาตั้งรัฐบาลล่วงหน้า ต้องดูตัวเลขหลังเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ ก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย
แคนดิเดตนายกฯพรรคพลังประชารัฐให้นิยาม ก้าวข้ามความขัดแย้งคือความต้องการให้ประชาชนคนไทย เป็นหนึ่งเดียว มีความรักใคร่สามัคคีกัน พาบ้านเมืองหลุดพ้นจากความขัดแย้งเสียที
ส่วนใครจะคิดอย่างไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน เรื่องทางการเมือง ก็เป็นเรื่องของการเมือง ไม่เกี่ยวกัน ใครจะคิดอย่างไร ก็ขอให้คิดกันเอาเอง
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐให้สัมภาษณ์สื่อเครือเนชั่น ถึงจุดแข็งของพลังประชารัฐว่า เป็นศูนย์รวมของคนมีความรู้ความสามารถบริหารประเทศชาติ ตามที่คณะกรรมการคัดสรรเข้ามา ทีมเศรษฐกิจ ห้าคน มีที่ยืนด้วยกันทั้งนั้น เพราะต่างคนก็มีที่มา
ยกตัวอย่างนโยบายประชารัฐ ก็เป็นของพรรคพลังประชารัฐที่ทำมาตั้งแต่ต้น โดย อุตตม สาวนายน เป็นคนทำ และหากได้เข้ามาเป็นนายกฯ จะทำทันที ทุกเรื่องที่ทำให้ประชาชน อยู่ดีกินดีขึ้น ได้รับการแก้ไขปัญหา ที่ประชาชนเดือดร้อนทำทุกเรื่อง
พล.อ.ประวิตร บอกว่า การทำงานที่ผ่านมาส่วนมากจะประชุมทั้งวัน วันละหลายเรื่อง แต่ยอมรับว่าการเมืองจะหนักหน่อย เพราะมีสี่ร้อยเขต ข้อต่อรองเยอะ ต้องตัดสินใจ ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกัน ซึ่งไม่มีใครยอมใคร ส่วนการลงสมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับ 1 ไม่ได้ตัดสินใจเอง แต่เป็นมติพรรค
และประเมินผลการเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐได้ สส. ไม่น้อยกว่า 70 ที่นั่ง จาก สส. แบบแบ่งเขต หรือ รวมแล้วอาจจะเกินร้อย โดยประเมินจากการทำโพล หลายช่องทาง มั่นใจยกจังหวัด ที่เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พะเยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสระแก้ว ส่วนกาญจนบุรี คะเนไว้ที่ 3-5 คน
การจัดตั้งรัฐบาล ต้องดูตัวเลขหลังการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ มีเงื่อนไขเดียว ว่าใครได้ สส. มากกว่าก็เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล การเลือกตั้งปี 66 ยากกว่า ปี 62 เพราะพรรคขนาดใหญ่ สู้กันเยอะ
เรื่องหมายเลขผู้สมัคร ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และ บัญชีรายชื่อ หากชาวบ้านต้องการรู้จริงๆ ก็ไม่ใช่ปัญหา พรรคไม่ได้สนใจว่า พรรคการเมืองไหนจะมีกระแสอย่างไร แต่เสียงของรัฐบาล ต้องไม่ต่ำกว่า 251 เสียง ไม่มีรัฐบาลเสียงข้างน้อย
ส่วนคำถามที่ว่าไหวไหมต้องถามกลับคนถามว่าไหวหรือเปล่า เพราะส่วนตัวเดินมาปีกว่าแล้ว ตรวจราชการครบทั้ง 77 จังหวัด บางจังหวัดไป 2-3 รอบก็มี