ข่าว

ชาติไทยพัฒนา เตือนเพื่อไทย ระวัง หนี้สาธารณะจากการแจก 'เงินดิจิทัล'

ชาติไทยพัฒนา เตือนเพื่อไทย ระวัง หนี้สาธารณะจากการแจก 'เงินดิจิทัล'

11 เม.ย. 2566

ชาติไทยพัฒนา ไม่เชื่อ 'เงินดิจิทัล' ฟื้นเศรษฐกิจได้จริง หวั่นหนี้สาธารณะก้อนมหึมา ไม่คุ้มค่า กับการนำมาให้ประชาชนใช้สอย

พรรคชาติไทยพัฒนา  มองการแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาท ว่าไม่ว่าจะแปลงรูปแบบ หรือ เปลี่ยนวิธีการอย่างไร การแจกเงินก็คือการแจกเงินอยู่ดี  หากต้องการกำหนดรูปแบบการใช้จ่าย ก็มีแอพฯเป๋าตัง อยู่แล้ว

 

 

แต่สิ่งที่ต้องกังวลคือการก่อหนี้ก้อนมหึมาต้องคิดให้ดีว่า สร้างภาระหนี้สาธารณะหรือไม่

เฟซบุ๊กของ สันติ กีระนันท์ กรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคชาติไทยพัฒนา ไล่เรียงเรื่องการแจกเงินดิจิทัลว่า

 


ในภาวะเศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัวของไทย (แม้จะยังน่ากังวลใจจากภาวะอ่อนแอและเต็มไปด้วยความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก) นโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจสำคัญกว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ปัจจัยพื้นฐานยังอ่อนแอ

จะส่งผลดีระยะสั้น คือ GDP growth ขึ้นด้วยเม็ดเงินที่อัดลงในระบบ แต่เมื่อเงินหมดฤทธิ์ ก็จะแฟบเหมือนเดิม และอาจจะมีผลข้างเคียงเชิงลบ เพราะสร้างความคาดหวังที่ผิดแก่ประชาชน พร้อมกับสร้างภาระทางการคลังก้อนมหึมา

 

จะแจกเงินรูปแบบใดก็ตาม แม้จะบอกว่าเป็น CBDC ซึ่งก็คือสกุลเงินดิจิตอลที่ออกโดยธนาคารกลาง ก็คือการแจกเงินทั้งสิ้น ซึ่งไม่มีทางอื่นใดนอกจากต้องจัดสรรงบประมาณด้วยการออกกฎหมาย แม้จะคิดว่าจะไปตัดลดงบประมาณบางส่วนออกไป

 

แต่เม็ดเงินขนาด 5.5 แสนล้านบาท นั้น ยากที่จะตัดจากงบประมาณปัจจุบัน เพราะ 80% ของงบประมาณประจำปี เป็นรายจ่ายประจำ อีก 20% เป็นรายจ่ายลงทุนที่ลดกว่านี้ไม่ได้ ซึ่งในส่วนรายจ่ายประจำนั้น ส่วนใหญ่ปรับลดยาก เพราะเป็นเงินเดือน ค่าตอบแทน รายจ่ายผูกพัน เป็นต้น

 

การออก CBDC หรือเงินดิจิทัลนั้น รัฐบาลทำเองไม่ได้ เป็นหน้าที่และอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย หากรัฐบาลคิดว่าจะออก CBDC อื่นนอกเหนือไปจากที่ ธปท. ทำโครงการอินทนนท์ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะการกำหนดว่า สกุลเงินอะไรที่ใช้ได้ในประเทศไทย เป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

หากจะแจกเงินในรูปแบบใดก็ตาม รวมทั้งที่จะแจก CBDC แปลว่า รัฐบาลต้องมีเงิน ซึ่งในที่สุด ก็ต้องเกิดการก่อหนี้ก้อนมหึมา และก็เป็นภาระหนี้สาธารณะเพื่อให้ประชาชนเอามาจับจ่ายใช้สอย

 

ข้ออ้างที่บอกว่า ต้องใช้เงินดิจิทัล เพราะจะได้กำหนดวัตถุประสงค์ สถานที่การใช้เงินของผู้รับได้ ที่จริงแล้ว ในปัจจุบัน เป๋าตัง ก็สามารถทำตามสิ่งที่ต้องการกำหนดนั้นได้อยู่แล้ว

 

อย่าคิดถึงงบกลาง เพราะงบกลางนั้น 10 รายการแรกมีวัตถุประสงค์ตามกฎหมายกำหนดชัดเจน เอามาใช้ตามใจขอบไม่ได้ ส่วนรายการที่ 11 คือ เงินสำรองในกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น จำนวนประมาณ 90,000 ล้านบาท

 

มีนิยามว่าอะไรเป็นความฉุกเฉินหรือจำเป็น การกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่น่าจะนับเป็นความฉุกเฉินหรือจำเป็น ... ดังนั้น งบกลางก็ใช้ไม่ได้

สุดท้ายการแจกเงินก็คือการแจกเงิน ไม่ว่าจะพยายามแปลงรูปร่างยังไง ก็คือการแจกเงิน



สันติ เคยทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สส.สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ทีม สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แล้วลาออกมาเป็นทีมกรุงเทพฯ พรรคสร้างอนาคตไทย ก่อนล่มสลาย และย้ายมาอยู่กับพรรคชาติไทยพัฒนาในที่สุด