ข่าว

อดีต กกต. ห่วง 'นโยบาย' หลาย 'พรรคการเมือง' ไม่คำนึงถึงกฎหมาย

อดีต กกต. ห่วง 'นโยบาย' หลาย 'พรรคการเมือง' ไม่คำนึงถึงกฎหมาย

11 เม.ย. 2566

การเลียนแบบกันออก 'นโยบาย' ที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินของหลาย 'พรรคการเมือง' ทำให้อดีต กกต. กังวลว่า จะผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง

 

อดีตกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ห่วงการเลียนแบบ นโยบายของหลายพรรคการเมือง ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก หลัง กกต. ระบุว่าสามารถทำได้ ทั้งที่ในข้อเท็จจริง การทำนโยบาย ควรคำนึงถึงขีดความสามารถทางงบประมาณรายจ่ายของประเทศ เช่น ปี 2568 มี 3.3 ล้านล้านบาท เป็นงบลงทุน 20.5 % ที่เหลือเป็นรายจ่ายประจำ และการก่อหนี้สาธารณะ ต้องไม่เกินเพดาน 70 %  ของ GDP

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า หากจะเอางบประมาณแผ่นดินมาใช้ในนโยบายประชานิยม ต้องพิจารณาว่าจะเอามาจากส่วนใด  หากจะตัดงบลงทุนก็ต้องเติมกลับเข้าไป เพราะ กฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ชัดว่า งบลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 20% หากจะกู้ก็ต้องมีเหตุและผลที่เหมาะสม เพราะจะส่งผลต่อหนี้สาธารณะของประเทศ

 

จากการเปรียบเทียบในเชิงตัวเลข หลายพรรคใช้งบประมาณมากกว่าพรรคเพื่อไทยหลายเท่า เช่น นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของพรรคพลังประชารัฐ ที่ระบุว่าจะให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 3,000 บาท  70 ปีขึ้นไป 4,000 บาท และ 80 ปีขึ้นไป 5,000 บาท หากจ่าย 4 ปี งบประมาณจะอยู่ที่  2 ล้านล้านบาท มากกว่าของพรรคเพื่อไทยถึง 4 เท่า

ในทางกฎหมายต้องพิจารณา 2 เรื่อง คือเป็นความผิดสัญญาว่าจะให้ ตามมาตรา 73 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งหน้าที่การตีความควรเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ใช่หน้าที่ของเลขาธิการ กกต.  ทั้งนี้ไม่ควรมีสิทธิมาพูดก่อนล่วงหน้า จะผิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของ กกต. และกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ปี 2561

 

ซึ่งเกิดจากการประชุมระดมความคิดจากนักวิชาการ ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารการเงินการคลังภาครัฐ ที่มองปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายที่มุ่งได้รับคะแนนนิยมจากประชาชน มากกว่า ความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีข้อกำหนดทางวินัยการเงินการคลังเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจะทั้งในหรือนอกประเทศ ของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ ต้องไม่เกินเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ ไม่เกิน ร้อยละ 70 ของ GDP.

 

กฎหมายวินัยการเงินการคลัง กลายเป็นข้อห้ามและข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายที่หวือหวา จึงมีลักษณะเป็นแนวอนุรักษ์นิยม (Conservative) และอาจเป็นไม่ถูกใจของพรรคการเมืองแนวเสรีนิยม (Liberalist) ทั้งนี้เพื่อมุ่งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ตราบใดที่ กฎหมายยังมีอยู่ ก็ยังจำเป็นต้องยึดถือ จนกว่าคณะรัฐมนตรี หรือ สภาผู้แทนราษฎร ชุดใหม่ จะเห็นว่า ไม่เป็นประโยชน์ ก็สามารถใช้กลไกทางนิติบัญญัติในการแก้ไขในอนาคตได้

 

ส่วนมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่กำหนดว่าพรรคการเมืองต้องระบุแหล่งที่มาในการใช้งบประมาณ แต่มาตราดังกล่าวไม่ค่อยมีผลในการบังคับใช้ และ กกต.เองมีข้อจำกัดในการวิเคราะห์ อาจไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางเศรษศาสตร์มหภาคที่จะบอกว่าตัวเลขต่าง ๆ จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไร ส่วนบทลงโทษในมาตรานี้ค่อนข้างน้อย คือการตักเตือน และปรับแค่วันละ 10,000 บาทจนกว่าจะมีการแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้มีการส่งข้อมูลเพียงไม่กี่พรรคเท่านั้น