ข่าว

'นายกฯ' ปลื้ม ศก.ไทยขยายตัว เงินเฟ้อลดลง ห่วงสถานการณ์โลกควบคุมยาก

'นายกฯ' ปลื้ม ศก.ไทยขยายตัว เงินเฟ้อลดลง ห่วงสถานการณ์โลกควบคุมยาก

12 เม.ย. 2566

'นายกฯ' เผยเศรษฐกิจไทยขยายตัว เงินเฟ้อลดลงเหลือ 2.9% นักท่องเที่ยว-นักลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ยังห่วงสถานการณ์โลกควบคุมยาก

เมื่อวันที่ 12 เม.ย. เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยล่าสุด หลังเมื่อวานนี้(11 เม.ย.)ได้รับรายงานจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ระบุว่า 

" ได้ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการประเมินทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งของโลก จากองค์กรทางเศรษฐกิจชั้นนำ ที่ทั่วโลกให้ความเชื่อถือ อาทิ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของญี่ปุ่น (Japan Center for Economic Research : JCER) เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับแผน ลดความเสี่ยง และเสริมศักยภาพในการหารายได้เข้าประเทศ อีกทั้งกระจายรายได้สู่ทุกภูมิภาคของประเทศ สามารถสรุปภาพรวมได้ ดังนี้

1. เศรษฐกิจของไทย : จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 3.3 ในปี 2566 และขยายตัวต่อเนื่องเป็นร้อยละ 3.7 ในปี 2567

2. อัตราเงินเฟ้อของไทย : จะลดลงจากร้อยละ 6.1 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 2.9 ในปี 2566 และลดลงเหลือร้อยละ 2.3 ในปี 2567 โดยเมื่อเทียบอัตราเงินเฟ้อของไทยกับทั่วโลก พบว่าอยู่ในอันดับที่ 20 จาก 134 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งต่ำเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน (ข้อมูล ณ 29 มี.ค.66)

3. ปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ได้แก่
(1) การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยช่วง ม.ค.-มี.ค.66 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าไทยแล้ว 5.57 ล้านคน สร้างรายได้และเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 215,052 ล้านบาท และคาดว่าตลอดปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นรวม 27 ล้านคน
(2) ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ในหลายมาตรการ/นโยบายของรัฐบาล ทำให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การลงทุนกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ และสถานีชาร์จ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 114,000 ล้านบาท
(3) ความสำเร็จจากการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ครบรอบ 1 ปี ส่งเสริมให้เกิดมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 323,113 ล้านบาท ในปี 2565 อีกทั้งซาอุดีอาระเบียสนใจและมีความพร้อม ที่จะลงทุนด้านพลังงานในพื้นที่ EEC สูงถึง 300,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้มีการลงนามขยายความร่วมมือ (MOU) และจับคู่เจรจาธุรกิจในด้านต่างๆ แล้ว มากกว่า 500 คู่ คาดว่าจะเกิดมูลค่าการค้าใหม่ 30,000 ล้านบาท และสร้างการลงทุนระหว่างกันมากกว่า 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2566 นี้

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยลบที่เราไม่อาจควบคุมได้ มาจาก (1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และประเทศส่วนใหญ่ในทวีปเอเชีย และ (2) ปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ที่จะเป็นแรงต้านการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ซึ่งรัฐบาลจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และมีการปรับมาตรการ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

โดยสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญมาก สะท้อนถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในทิศทางที่ถูกต้อง คือ การรักษาเสถียรภาพและสร้างความเข้มแข็ง ให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคของประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้จะเกิด "วิกฤตซ้อนวิกฤต" ครั้งใหญ่ในโลก ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปด้านการคมนาคมขนส่ง ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยมีระบบการขนส่งดีที่สุด เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน อ้างอิงจากดัชนี International Logistics Performance Index ของธนาคารโลก ที่ประเมินจากต้นทุน เวลาที่ใช้ และความน่าเชื่อถือในการขนส่ง ส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเชื่อมโยงการลงทุน การผลิต และแรงงาน โดยถือว่ามีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลาง แบบ One stop service ในระดับภูมิภาค รองรับการพัฒนาของไทย และของโลกในอนาคตได้ครับ"