ข่าว

วัดใจกกต. ครม.เคาะขอใช้งบฯ 1.1 หมื่นล้าน 'ลดค่าไฟฟ้า'

วัดใจกกต. ครม.เคาะขอใช้งบฯ 1.1 หมื่นล้าน 'ลดค่าไฟฟ้า'

25 เม.ย. 2566

มติที่ประชุมครม. เตรียมขอ กกต.อนุมัติวงเงิน  11,112 ล้านบาท หลังเห็นชอบมาตรการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชน

ครม.มีมติเห็นชอบวงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท ในการดำเนินมาตรการลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน แต่เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในห้วงการยุบสภา ครม.จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งกกต.พิจารณา ให้ความเห็นชอบการใช้งบประมาณ

 

โดยเรื่องนี้  นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ (25 เมษายน 2566) รับทราบ รายงานสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัยในช่วงฤดูร้อนปี 2566  

 

และเห็นว่ามีความจำเป็นสำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วนในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น

และสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น  ซึ่งจะได้นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ให้ความเห็นชอบการใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) กำหนด 

 

แนวทางการช่วยเหลือ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานโลกสูงขึ้น  ดังนี้

 

1. มาตรการต่อเนื่องของกระทรวงพลังงานที่ได้ดำเนินการอยู่ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2566  (การช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มเปราะบาง)   เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

 

รวมถึงสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป  แม้ราคาพลังงานโลกเริ่มมีการปรับตัวลดลงจากช่วงปี 2565  โดยมีแนวทางช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน

โดยให้ส่วนลดแบบขั้นบันได แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม  2566  (4 เดือน)

 

โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราส่วนลดเดียวกันกับช่วงเดือน มกราคม - เมษายน 2566

 

(1)  ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้า ตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 1.39 สตางค์ต่อหน่วย 

 

(2) ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 67.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 26.39 สตางค์ต่อหน่วย) 

 

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้นประมาณ 18.36 ล้านราย ใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 7,602 ล้านบาท สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 (4 เดือน) จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.  2566 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

 

2. มาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วน  เป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชนในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ในหลายพื้นที่ของประเทศ

 

ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ  6 โดยให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้า และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ จำนวน 150 บาทต่อราย 

 

โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในรอบบิลเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่มีสถิติความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของประเทศและจะเริ่มลดลงในเดือนมิถุนายน         

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นลดภาระของประชาชนซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน  500 หน่วยต่อเดือน จำนวน 23.40 ล้านราย โดยใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 3,510 ล้านบาทจากงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

 

"เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในห้วงการยุบสภา  คณะรัฐมนตรี จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ให้ความเห็นชอบการใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) กำหนด" นายอนุชา กล่าว 

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า  ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนายกรัฐมนตรียืนยันถึงความพยายามของรัฐบาล ในแก้ไขปัญหาไฟฟ้าแพงเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลดูแลลดภาระให้แก่กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้า 1-300 หน่วย ครอบคลุมกว่า ร้อยละ 80 ครัวเรือน  

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เดินหน้าเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานของประเทศ  โรงไฟฟ้าสีเขียว สำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นคาร์บอน เครดิต ของประเทศ  ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า  ในอนาคตเชื่อว่า การใช้พลังงานสะอาดของไทยจะมีสัดส่วนที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับพลังงานที่มาจาก fossil  สอดคล้องกับทิศทางและแนวโน้มโลกในการใช้พลังงานสีเขียว