กทม.เตรียมทดสอบ AI นับคะแนน 'เลือกตั้ง 66' และ CCTV ดูแลหีบบัตรลงคะแนน
กทม. เตรียมทดสอบระบบ AI นับคะแนน 'เลือกตั้ง 66' พร้อมติดกล้อง CCTV ตรวจจับความเคลื่อนไหว เฝ้าระวังการเก็บหีบบัตรลงคะแนนล่วงหน้า
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.)เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 5/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า
นายชัชชาติ ได้กล่าวถึงความพร้อมของกรุงเทพมหานครในการสนับสนุนการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า สำหรับการ เลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค. 2566 และการ "เลือกตั้ง66" ในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ทางกทม. ได้จัดเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านสถานที่สำหรับใช้ในการลงคะแนนเสียง ขณะนี้ กกต.เขตได้ทำการประกาศและปิดประกาศไว้ที่หน่วยเลือกตั้ง ให้ตรวจสอบแล้ว
ด้านบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นายทะเบียนท้องถิ่นเขตได้ทำการประกาศและติดประกาศให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้อง พร้อมมีหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปให้เจ้าบ้านทราบแล้ว ด้านบุคลากรที่จะใช้ในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง กกต.เขต ได้แต่งตั้งเสร็จสิ้นพร้อมทั้งมีการจัดอบรมซักซ้อมการปฏิบัติงานให้กับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานดังกล่าวประมาณ 60,000 คน ไปเมื่อวันที่ 29-30 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา
มาตรการเสริมที่กรุงเทพมหานครพร้อมที่จะดำเนินการในการดูแลการ "เลือกตั้ง66" คือ การดูแลหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ที่จะใช้ CCTV และเครื่องตรวจจับการเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าได้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี
สำหรับมาตรการการเก็บรักษาหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า เขตจะมีการติดตั้งกล้อง CCTV และติดตัวตรวจจับความเคลื่อน ( motion detect) ตลอด 24 ชั่วโมง หากมีการเคลื่อนไหวระบบก็จะแจ้งเตือนมายังเจ้าหน้าที่ทันที ขณะนี้ได้เชื่อมกล้องแล้ว 22 จุด จากทั้งหมด 33 เขตเลือกตั้ง ภายในวันพรุ่งนี้ (3 พ.ค.2566) จะสามารถดำเนินการเชื่อมกล้องได้ครบทั้ง 33 จุด โดยกกต.อนุญาตให้ กทม.ดำเนินการทั้ง 2 ระบบเรียบร้อยแล้ว โดยในวันพรุ่งนี้ (3 พ.ค.2566) จะมีการทดสอบระบบดังกล่าว ที่ ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้าด้วย
นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า ตามที่ กกต. กำหนดให้มีผู้ดูแลรักษาความปลอดภัย เพื่อเฝ้าด้านหน้าห้องเก็บรักษาบัตรและหีบบัตรเลือกตั้ง และต้องมีระบบติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) นั้น กทม. ก็จะปฏิบัติตามเดิมทุกอย่าง เพียงแต่เรามีมาตรการเสริมเข้าไปเพิ่มเติม
สำหรับวัน เลือกตั้ง66 ทางกกต.ก็มีการถ่ายรูปใบรายงานผลการนับคะแนน (5/18) ที่แปะอยู่หน้าหน่วยอยู่แล้ว กทม.ก็มีคล้ายๆ AI สามารถอ่านคะแนนได้ ขณะนี้ได้ส่งหนังสือขออนุมัติไปยังกกต.แล้วหาก กกต.ตอบกลับมา ก็จะนำมาช่วยให้การนับคะแนนเร็วขึ้น กับพยายามตรวจยอดคนที่มาลงคะแนนแต่ละช่วงเวลา ว่ามีคนมาใช้สิทธิกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว จะได้ไม่มีข้อกังวลเรื่องบัตรเขย่ง ประเด็นที่กกต.กังวลคือต้องไม่เพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ซึ่งอาจทำให้การปฏิบัติภารกิจเดิมไม่ครบถ้วน ยืนยันว่ากทม.จะไม่ไปเพิ่มภาระแก่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยแต่จะหาอาสาสมัครเป็นผู้ดำเนินการแทน
ด้านนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. ระบุว่า กกต. มีการเพิ่มกระบวนการ 2 อย่างที่เป็นประโยชน์ คือ การให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งถ่ายรูปแบบ 5/18 ส่งมาตรวจสอบความถูกต้องก่อน จะทำให้ความโปร่งใสดีขึ้น
ส่วนที่สอง คือ มีการติดประกาศที่หีบบัตรลงคะแนนให้คนที่จะลงคะแนนเห็นชัดว่าหีบไหนสำหรับบัตรเลือกตั้งที่เลือกคน หีบไหนสำหรับบัตรเลือกตั้งแบบพรรค เป็นการป้องกันความสับสนในการหย่อนบัตรเลือกตั้ง
สำหรับการใช้ AI ช่วยนับคะแนน ซึ่งเป็นการจับตัวเลขที่เขียนลงไป ปัญหาคือเมื่อเลือกตั้งเสร็จการนับคะแนนจะเป็นช่วงเย็นช่วงค่ำ ไฟจะมืด เมื่อถ่ายรูปไม่ชัด จะอ่านค่อนข้างลำบาก จากการทดลองล่าสุดเมื่อเช้าได้ประมาณ 30% เพราะเป็นการอ่านจากลายมือที่ขีดคะแนนในแบบ 5/18 ก็พยายามนำเข้าข้อมูลให้มากขึ้น