ข่าว

เลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขต ในเขต วันนี้วันเดียวเท่านั้น

เลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขต ในเขต วันนี้วันเดียวเท่านั้น

07 พ.ค. 2566

เลือกตั้งล่วงหน้า เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว ใครที่ลงทะเบียนไว้ต้องไปใช้สิทธิ ระหว่างเวลา 08.00 - 17.00 น.ตามสถานที่ ที่ระบุไว้ในการลงทะเบียน

08.00 – 17.00 น. อาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต  จะต้องไปใช้สิทธิในวันนี้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งจริง 14 พฤษภาคม 2566 ได้ เพราะพ้นเวลาในการแก้ไขหรือยกเลิกการลงทะเบียน ไปแล้ว

การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต มีขั้นตอนบางอย่างที่ยุ่งยากกว่าการเลือกตั้งในวันจริง เนื่องจากในหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตที่หนึ่ง มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากหลายๆ เขต หลายๆ จังหวัด มาใช้สิทธิในที่เดียวกัน

 

ระบบบางอย่างอาจจะแตกต่างจากวันเลือกตั้งจริงเล็กน้อย ผู้ที่จะไปเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ต้องทำอะไรบ้าง เช็กได้ที่นี่ 

เช็คสิทธิเลือกตั้ง และลำดับที่ในบัญชีของตนเอง อย่าลืมพกบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักไปด้วย เช่น หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ หรือจะโหลดแอป ThaID เพื่อแสดงบัตรประจำตัวประชาชนแบบอิเล็กทรอนิกส์ 

หากมีเอกสารที่ได้รับจากการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ หรือที่สำนักงานเขต อำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น ให้นำไปเผื่อแสดงเป็นหลักฐานด้วย

กรณีที่ลงทะเบียนทางออนไลน์ และบันทึกเอกสารไฟล์ PDF ไว้ตั้งแต่ลงทะเบียน จะนำใส่โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตไปก็ได้ หรือจะปรินท์ไปก็ได้ 

ถ้าไม่ได้บันทึกเอกสารไว้ตั้งแต่ตอนที่ลงทะเบียน ให้เช็คสิทธิ-สถานที่ไปเลือกตั้ง ว่าระบุข้อมูล วันที่ไปใช้สิทธิ-สถานที่ไปใช้สิทธิ ถูกต้องหรือไม่ โดยการเช็คสิทธิในเว็บไซต์ สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้ว

ข้อมูลด้านล่างหน้าเว็บไซต์จะต้องระบุว่า การขอไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งและระบุวันที่เลือกตั้งล่วงหน้า คือ วันที่ 7 พฤษภาคม 2566
หลักฐานที่ต้องใช้ในการลงคะแนนเลือกตั้ง
 
เอกสารที่ได้จากการลงทะเบียน จะต้องใช้เมื่อลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่พบรายชื่อในบัญชี เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งจะขอเอกสารนี้เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันว่าเราได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้วจริงๆ

 
เช็คสถานที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้ที่นี่ 
เช็กสถานที่เลือกตั้งล่วงหน้า
 

เช็คเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต รวมถึงเบอร์พรรคการเมืองได้ที่แอปพลิเคชัน SmartVote ที่จัดทำโดย กกต.



ขั้นตอนการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า



1.เมื่อไปถึงหน้าหน่วยเลือกตั้ง เข้าแถวแยกตามป้ายจังหวัดที่ตนมีสิทธิ 

 

2.แสดงตนกับเจ้าหน้าที่  แจ้งลำดับที่ในบัญชีรายชื่อของเรา และยื่นบัตรประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีรูปถ่าย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อ

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้เราลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขต จากนั้นเจ้าหน้าที่จะระบุ จังหวัด เขตเลือกตั้ง และรหัสเขตเลือกตั้งที่เรามีสิทธิลงบนซองใส่บัตรเลือกตั้ง ให้ดูด้วยว่าจังหวัดและเขตที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง ระบุบนหน้าซองถูกต้องหรือไม่

บนซองจะต้องมีการเจาะรูทั้งสองข้างเพื่อให้เห็นบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบได้จากภายนอก ต่อมา จะส่งบัตรประชาชนและซองใส่บัตรเลือกตั้งของเรา ให้เจ้าหน้าที่คนที่ 2

 

3.รับบัตรเลือกตั้งกับเจ้าหน้าที่  หลังจากเจ้าหน้าที่คนที่ 2 ได้รับบัตรประชาชนและซองใส่บัตรเลือกตั้งหนึ่งซองของเรามาแล้ว เจ้าหน้าที่คนที่ 2 จะจดลำดับที่ในบัญชีรายชื่อของเรา ไว้ที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง

และให้เราลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งด้วย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะลงลายมือชื่อกำกับตรงต้นขั้วบัตรเลือกตั้งเช่นกัน แล้วส่งมอบบัตรเลือกตั้งและบัตรประชาชนคืนมาให้

 

4.เข้าคูหา ทำเครื่องหมาย “กากบาท” ในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ : ในคูหาเลือกตั้งจะมีปากกาเตรียมไว้ให้แล้ว แต่ถ้านำไปเองก็แนะนำให้ใช้สีน้ำเงินเพราะจะอ่านง่ายกว่าเวลาเจ้าหน้าที่นับคะแนน 

บัตรเลือกตั้งใบแรก เลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต (สีม่วง) จะมีแค่เบอร์มาให้ ไม่มีข้อมูลชื่อ-นามสกุล ไม่มีโลโก้พรรค ต้องจำเบอร์ให้ดีตั้งแต่แรก

บัตรเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขต
 
บัตรเลือกตั้งใบที่สอง เลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง (สีเขียว) จะมีโลโก้พรรคการเมืองระบุไว้ในบัตร แต่ถ้าจำเบอร์ได้ก็จะช่วยให้กาไว้ขึ้น

บัตรเลือกตั้ง สส. แบบบัญชีรายชื่อ
 
ให้ทำเครื่องหมาย “กากบาท” ในช่องว่างสำหรับทำเครื่องหมาย โดยให้ทำเครื่องหมายกากบาทแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่ละบัตรเลือกตั้ง สามารถกาเลือกได้เพียงเบอร์เดียว อย่ากาหลายเบอร์
 
หากไม่อยากเลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตคนใดเลย และ/หรือ ไม่ประสงค์จะเลือกบัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองใดเลย ให้ทำเครื่องหมายกากบาทในช่อง  “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”

 
บัตรเลือกตั้งจะกลายเป็นบัตรเสีย ไม่ถูกนับเป็นคะแนนหากกระทำดังนี้

 

-ทำเครื่องหมายอื่นนอกจากกากบาท เช่น กากบาทแล้วใส่วงเล็บล้อม ทำเครื่องหมายดาว วาดรูปหัวใจ ทำสี่เหลี่ยม เขียนคำหรือเบอร์พรรคที่จะเลือก

-ใส่เครื่องหมายกากบาทมากกว่าหนึ่งอันขึ้นไปในช่องเดียว

-ทำเครื่องหมายกากบาทนอกช่องทำเครื่องหมาย

-กาเบอร์มากกว่าหนึ่งเบอร์ขึ้นไป

-เขียนข้อความใดๆ ลงในบัตรเลือกตั้ง

-ปล่อยช่องเว้นว่างไว้ ไม่กาเบอร์ใดเลย

-กาทั้งช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” และกาเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต หรือเบอร์บัญชีรายชื่อพรรคการเมืองด้วย

-กาในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร



5.นำบัตรเลือกตั้งใส่ซอง ปิดผนึก ส่งให้เจ้าหน้าที่เซ็นกำกับ หลังจากกาในช่องทำเครื่องหมายกากบาท ของบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบแล้ว ให้นำบัตรเลือกตั้งใส่ซองใส่บัตรเลือกตั้ง และปิดผนึกซองให้เรียบร้อย

อย่าเพิ่งนำบัตรเลือกตั้งไปหย่อนใส่กล่อง แต่ให้นำบัตรเลือกตั้งที่ใส่ซองเรียบร้อยแล้ว ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูก่อนว่าใส่บัตรและปิดผนึกเรียบร้อยหรือไม่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะลงลายมือชื่อกำกับตรงรอยต่อผนึกซองบัตรเลือกตั้งและปิดทับรอยต่อผนึกซอง ด้วยเทปกาวใส

กลไกนี้จะทำให้ช่วยตรวจสอบได้ว่า ซองใส่บัตรเลือกตั้งถูกเปิดหรือไม่


6. หย่อนซองใส่บัตรเลือกตั้งลงหีบ หลังจากเจ้าหน้าที่จัดการกับซองใส่บัตรเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งซองใส่บัตรเลือกตั้งคืนกลับมาให้ ให้นำซองใส่บัตรเลือกตั้ง ไปหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้ง โดยหีบจะมีใบเดียว และบัตรแต่ละประเภท จะถูกนำไปแยกภายหลัง โดยที่ซองใส่บัตรจะมีรูเพื่อให้เห็นว่ามีบัตรสองใบ สองสี

บัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ยังไม่นับคะแนน 7 พ.ค. ถูกส่งไปสถานที่ในเขตเลือกตั้ง นับคะแนนวันเลือกตั้งจริง จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ราว 2.3 ล้านคน