'เลือกตั้งล่วงหน้า' ร้อนระอุ ดัน #กกต. มีไว้ทำไม ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์
เลือกตั้ง66 : เลือกตั้งล่วงหน้า ร้อนระอุ ดัน #กกต. มีไว้ทำไม ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ จี้ตรวจสอบการทำงาน ส่อ ไม่โปร่งใส
เกาะติด เลือกตั้ง66 ถึงแม้การลงทะเบียน “เลือกตั้งล่วงหน้า” จะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิกันอย่างล้นหลาม แต่ก็พบความผิดพลาดของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ทั้งกรณีการกรอกรายละเอียดหน้าซองบรรจุบัตรเลือกตั้งผิดพลาด, ไม่กรอกรายละเอียด, เขียนรหัสเขตเลือกตั้งผิดพลาด หรือบางหน่วยไม่เขียนเลย จนทำให้เกิดเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย วิจารณ์การทำงาน กกต. อย่างดุเดือด ที่ทำให้ #กกต. มีไว้ทำไม พุ่งขึ้นอันดับหนึ่ง เทรนด์ทวิตเตอร์
จากการตรวจสอบข้อมูลจาก #กกตมีไว้ทำไม พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการโพสต์ภาพการทำงานที่ผิดพลาดของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง พร้อมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กกต. และเรียกร้องให้ กกต.รับผิดชอบด้วยการลาออก เนื่องจาก 4 ปี ที่ผ่านมา ไม่มีการถอดบทเรียนการเลือกตั้งปี 62 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการเลือกตั้งครั้งนี้
ขณะเดียวกัน ในทวิตเตอร์ ยังมีการแชร์ข้อมูลของ We watch ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เครือข่ายภาคประชา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งระบุว่า ได้รับร้องเรียนจากอาสามัครและภาคประชาชน ดังนี้
1. กกต. ปิดกั้นอาสาสมัครจับตาเลือกตั้ง
- 09.45 น. บริเวณหอประชุมบริบาลภูมิเขตต์ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เจ้าหน้าที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ได้แจ้งต่อ กกต.เขต กรณีอาสาสมัครจับตาเลือกตั้งเข้าร่วมสังเกตการณ์ และเชิญอาสาสมัครออกนอกบริเวณหอประชุม โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีบัตรประจำตัวการสังเกตการณ์ และหรือคำสั่งจากหน่วยงาน ต้นสังกัดให้มาสังเกตการณ์ ที่ส่งไปยังเขตการเลือกตั้งนั้นๆ ล่าสุด แม้ว่าจะมีการนำใบรับรององค์กรสังเกตการณ์มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ กกต.เขต ยังคงปฏิเสธไม่ให้เข้าไปสังเกตการณ์
2. สับสนเลขไปรษณีย์
- 10.06 น. เขตเลือกตั้งศูนย์ประชุมนานาชาติขอนแก่น พบกรณีเจ้าหน้าที่กรอกหมายเลขไปรษณีย์คลาดเคลื่อน 90001 (อำเภอเมืองสงขลาต้องเป็น 90000) เช่นเดียวกับเขตเลือกตั้งห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ซึ่งเจ้าหน้าที่กรอกข้อมูลสลับเป็นเขต 3 เชียงใหม่ แม้ผู้ใช้สิทธิคนดังกล่าวอยู่เขต 4 เชียงใหม่ ทั้งนี้ รหัสหน้าซองต้องเป็นรหัสเขตเลือกตั้งของผู้มีสิทธิลงคะแนน
3. ใช้สิทธิเลือกตั้งสลับเขต
- 10.37 น. เพจเฟซบุ๊ก YouLove ระบุว่า ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งคนหนึ่ง มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.นครราชสีมา เขต 2 แต่เมื่อตรวจสอบสิทธิกลับมีสิทธิเลือกตั้งใน กทม. เขต 9
- ขณะเดียวกัน บางเขตเลือกตั้งในเขต อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ มีรายงานพบเห็นการทุจริต จากการนำผู้สูงอายุ มาใช้สิทธินอกเขตต่างอำเภอ (ไม่ทราบจำนวน) โดยพบว่าบางกรณีมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขต อ.เมือง แต่มาใช้สิทธิที่ อ.ปทุมราชวงศา ส่วนผู้มีสิทธิบางคน อยู่ที่ อ.ปทุมราชวงศา แต่เดินทางมาใช้สิทธิในเขตอำเภอเมือง
4. สับสนบัตรเลือกตั้ง ไม่มีชื่อก้าวไกล-เพื่อไทย
- โซเชียลมีการแชร์ภาพหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม พบผู้สูงอายุหลายคนจำหมายเลขผู้สมัครไม่ได้ และสับสนสีของบัตรเลือกตั้ง (สีเขียว-สส.บัญชีรายชื่อ และสีม่วง-สส.เขต) โดยผู้สูงอายุบางคนต้องดูหมายเลขผู้สมัครถึง 2 รอบก่อนเข้าคูหา เนื่องจากในบัตรเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตนั้น ไม่มีชื่อผู้สมัครและโลโก้พรรคการเมือง
- ขณะเดียวกัน หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า เขต 4 โรงเรียนพานทองสภาชนูปถัมภ์ จ.สุรินทร์ อาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้งรายงานว่า บนบอร์ดบริเวณหน้าหน่วย ไม่มีรายชื่อผู้สมัครพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย
5. ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ามากผิดปกติ
- ทั้งนี้ ก่อนวันเลือกตั้งล่วงหน้า 1 วัน (6 พ.ค. 2566) ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประธาน กกต.) ให้ตรวจสอบการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีจำนวนมากผิดปกติใน 3 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร
- โพสต์ดังกล่าวระบุว่า การเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พ.ค. 2566 มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในแต่ละเขตเลือกตั้งทั่วประเทศมากผิดปกติ โดยเปรียบเทียบจากสถิติเดิมของการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อปี 2562
ขณะที่บางจังหวัด เช่น อำนาจเจริญ เพจชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อ้างว่า มีประชาชนถูกหลอกจากผู้สมัคร ให้นำบัตรประชาชนไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทางออนไลน์ โดยไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของตัวเอง ซึ่งถือเป็นหน้าที่โดยตรงของ กกต. ที่ต้องสืบสวนสอบสวนให้ความจริงปรากฏ เพื่อให้สังคมได้ทราบถึงความไม่ชอบมาพากลอันส่อไปในทางทุจริตเลือกตั้ง