'ประธานกกต.' พร้อมสู้ หากโดนฟ้อง มั่นใจทำงานสุจริต
'ประธานกกต.' มั่นใจทำงานสุจริต หากโดนฟ้องพร้อมสู้ ชี้ยังไม่มูลเหตุ 'เลือกตั้ง' เป็นโมฆะ ยอมรับเหตุการณ์ 7 พ.ค. พบความผิดพลาดบ้าง ยินดีให้ทุกภาคส่วนร่วมตรวจสอบ ด้าน 'เลขากกต.' เผย ยังไม่พบไม่มีการจ่าหน้าซอง
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมด้วย นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เข้าร่วมกิจกรรม Big Day การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เพื่อเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.66
นายอิทธิพร เปิดเผยว่า ตั้งเป้าผู้ออกมาใช้สิทธิ ไว้ที่ 80% ขึ้นไป ตั้งใจและจะประชาสัมพันธ์ให้มากที่สุดในทุกระดับ วันนี้เป็นการเปิดตัวจริงจังอีกครั้ง หวังว่าประชาชนจะพร้อมใจกันออกมาใช้สิทธิ ขอให้ดูกฎ กติกา ให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้บัตรเสีย โดยตั้งเป้าว่าไม่อยากให้บัตรเสียเกิน 2% ซึ่งจะพยายามทำทุกวิถีทาง สร้างความมั่นใจ สร้างความเข้าใจให้ทุกคนได้ทราบก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง
ส่วนที่มีคนจะไปฟ้องร้องเอาผิด กกต. ตามมาตรา 157 หรือการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นโมฆะ หรือล้างไพ่ใหม่ นายอิทธิพร มองว่า เป็นแค่กระแสและความคิดของคนที่เห็นว่าการทำงานของ กกต. เป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสิทธิที่จะดำเนินการได้ กกต. ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย และต้องปฏิบัติตามกฏหมาย เพราะเราเป็นเจ้าหน้าที่เป็นพนักงาน ถ้าเห็นว่าการทำงานของ กกต. บกพร่องและต้องได้รับการพิจารณา พร้อมสู้คดี ที่สู้เพราะเราปฏิบัติงานโดยสุจริต ตามกฎหมาย ตอนนี้ไม่มีปัจจัยที่ต้องเป็นห่วงว่าการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ และการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม เสียงลงคะแนนเป็นอย่างไรก็เป็นเช่นนั้น
นายอิทธิพร กล่าวถึงความผิดพลาดเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อ 7 พ.ค. ที่ผ่านมาเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยวันที่ 14 พ.ค. ว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งแล้วเกิดปัญหา จะต้องตรวจสอบหาสาเหตุและหาวิธีแก้ไขให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิของผู้ที่ใช้สิทธิไปแล้ว นั่นคือเป้าหมายหลัก ซึ่งกำชับสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงานว่า จุดไหนที่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีก ส่วนที่ กกต. ตกเป็นเป้าและถูกโจมตี ตนไม่รู้สึกตกเป็นเป้าและถูกถล่ม แต่อีกทางรู้สึกดีใจว่าการทำงานของเรามีคนช่วยตรวจสอบ ทั้งการทำงานของ กกต. และการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ดี ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ถ้าไม่มีการตรวจสอบจากภาคประชาชนโดยสื่อมวลชน การทำงานของ กกต. อาจไม่ 100%
ส่วนปัญหาการใส่รหัสหน้าซองผิดและการที่ไม่ได้จ่าหน้าซองเลย ประธาน กกต. กล่าวว่า คนที่ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 2.2 ล้านคน มีข้อผิดพลาดแต่ไม่เยอะ พบว่ามีการกรอกเขตเลือกตั้งผิด ไม่ใช่กรอกรหัสไปรษณีย์ แต่เมื่อมีการหย่อนบัตรลงไปในหีบเลือกตั้งแล้ว หลัง 17.00 น. ก็จะมีการตรวจสอบแต่ละหน้าซองว่าถูกต้องหรือไม่ และจะแก้ไขแล้วส่งไปในจุดหมายที่ควรจะเป็น
นายแสวง เสริมว่า เมื่อเกิดปัญหาการจ่าหน้าซองผิด สำนักงาน กกต. ได้แจ้งไปยัง ผอ.เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ ว่า ก่อนมอบบัตรให้กับไปรษณีย์ขอให้ตรวจหน้าซองก่อน เมื่อประสานไปทางไปรษณีย์ก่อนรับให้ตรวจนับว่าหน้าซองมีการกรอกตัวเลขหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วจนถึงวันนี้ ไม่พบว่า ไม่มีการจ่าหน้าซอง มีแต่การกรอกเกรดผิดก็ต้องมีกรรมการวินิจฉัย
ความคืบหน้าการร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งหมด 101 เรื่อง โดย 38 เรื่อง เป็นการให้เงินซื้อเสียง อีก 34 เรื่อง เป็นการหลอกลวงใส่ร้าย (จากวันที่ 7 พ.ค. มี 92 เรื่อง) ทั้งนี้หากมีการร้องเรียนต้อเข้าไปตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการประจำจังหวัด มีเวลาภายใน 20 วัน แต่หากยังไม่เสร็จ สามารถต่อเวลาได้อีกครั้งละ 15 วัน โดยขอมาทางเลขาฯ กกต. และต้องผ่านคณะอนุกรรมการ กกต. วินิจฉัยอีกครั้ง ถ้ามีเหตุเชื่อได้ว่ามีการทุจริตเลือกตั้งก็จะรับเป็นคำร้องและดำเนินการตามระเบียบต่อไป ส่วนจะดำเนินการเสร็จก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน เพราะหากเป็นคำร้องแล้วการซื้อเสียงถือว่าผิดมาตรา 73 (1) ต้องมีการดำเนินคดีอาญาให้ใบส้มหรือไม่ หรือต้องไปศาล ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับพวกร้องและผู้ถูกร้อง จะเร่งรัดไม่ได้ ให้เป็นไปตามขั้นตอน
ส่วนความคืบหน้าที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งมติการขอใช้งบประมาณ เพื่อช่วยเหลือประชาชนเรื่องค่าไฟฟ้านั้น ประธาน กกต. ระบุว่า ทราบว่าจะมีการเสนอต่อที่ประชุม กกต. ในวันพฤหัสนี้