เช็ก 'วิธีลงคะแนนเลือกตั้ง 2566' บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กาอย่างไรให้ถูก
เกาะติดเลือกตั้ง : เช็ก 'วิธีลงคะแนนเลือกตั้ง 2566' ทุกขั้นตอน แบบละเอียด 'บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ' กาอย่างไรให้ถูก ก่อนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สส.
“เลือกตั้ง 2566” : 4 ปีมีครั้ง ที่ประชาชนคนไทย จะได้ออกไปใช้สิทธิ ลงคะแนนเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ตามระบอบประชาธิปไตย ที่หน่วยเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งที่ตนเองมีสิทธิ ในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น.
“วิธีลงคะแนนเลือกตั้ง 2566” มีขั้นตอนอย่างไร ใบขับขี่ใช้เลือกตั้งได้ไหม บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกลงคะแนนอย่างไร เช็กวิธี และการเตรียมตัวก่อนไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง เพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยไม่รู้ตัว
วิธีลงคะแนนเลือกตั้ง 2566
เตรียมตัวก่อนไปถึงเขต/สถานที่เลือกตั้ง
1. ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช็กสิทธิเลือกตั้ง สถานที่ และหน่วยเลือกตั้ง รวมถึงลำดับที่ในบัญชีของตนเอง อย่าลืมพกบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักไปด้วย เช่น หนังสือเดินทางใบขับขี่ หรือจะโหลดแอป ThaID เพื่อแสดงบัตรประจำตัวประชาชนแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
- เช็กสิทธิเลือกตั้ง : คลิกที่นี่
2. เช็กเบอร์พรรคการเมือง เพื่อเลือก สส. แบบบัญชีรายชื่อ (บัตรสีเขียว) และเบอร์ผู้สมัคร สส. แบบแบ่งเขต (บัตรสีม่วง) ของเขตที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง
- เช็กเบอร์ผู้สมัครเลือกตั้ง สส. : คลิกที่นี่
วิธีลงคะแนนเลือกตั้ง 2566
1. ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง
2. ยื่นหลักฐานแสดงตน บัตรประชาชน หรือหลักฐานที่ราชการ หรือหน่วยงานรัฐออกไว้ แต่ต้องมีรูปถ่ายและเลขบัตรประชาชน
3. ลงชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือในบัญชีรายชื่อ
4. รับบัตรเลือกตั้ง
5. ลงชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือบนขั้วบัตรเลือกตั้ง รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ (บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ)
6. เข้าคูหา ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่องทำเครื่องหมาย
- เลือก สส. แบบแบ่งเขต ได้ 1 เบอร์
- เลือก สส. แบบบัญชีรายชื่อ ได้ 1 เบอร์
- ไม่ต้องการเลือกพรรคการเมืองใด
7. พับบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบบัตร
บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
- บัตรเลือกตั้งสีม่วง คือ บัตรเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขต ซึ่งมีหมายเลขผู้สมัคร แต่ไม่มีชื่อผู้สมัคร และโลโก้พรรค โดยจะต้องกากบาทในช่องหมายเลขผู้สมัครที่ต้องการเลือกเพียง 1 ช่องเท่านั้น หรือเลือกกากบาทในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด”
- บัตรเลือกตั้งสีเขียว คือ บัตรเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ มีสัญลักษณ์/โลโก้ ของพรรคการเมือง และมีชื่อของพรรคการเมือง โดยจะต้องกากบาทในช่องหมายเลขพรรคที่ต้องการเลือกเพียง 1 ช่องเท่านั้น หรือเลือกกากบาทในช่อง “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”
สรุป บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ เลือกกากบาทได้เพียง 1 หมายเลข และห้ามใช้เครื่องหมายอื่นที่ไม่ใช่กากบาทในช่องลงคะแนน มิเช่นนั้นจะถือเป็นบัตรเสียทันที