เส้นทาง 'F-35' เครื่องบินขับไล่ ประสิทธิภาพสูง ทำไม สหรัฐฯ ดับฝัน กองทัพไทย
เปิดประสิทธิภาพ เครื่องบินขับไล่ 'F-35' เครื่องบินรบสุดล้ำ ทำไม กองทัพไทย อยากได้ กับเหตุผลที่แท้จริง ที่สหรัฐฯ ดับฝัน
เมื่อสหรัฐอเมริกา ดับฝันไทย ด้วยการไม่ขาย “เครื่องบินขับไล่ F-35” ให้กองทัพอากาศ โดยยกเหตุผล เรื่องความไม่พร้อม ในเรื่องอาคารสถานที่, การรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลข่าวสาร เป็นอันดับแรก แต่เหตุผลหลัก หลายฝ่ายมองว่า สหรัฐฯ คงยังกังวลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับจีน
“F-35” เป็นเครื่องบินขับไล่ ที่หลายๆ ประเทศ ต่างต้องการมีไว้ประจำการในกองทัพของตัวเอง รวมถึงกองทัพไทยด้วย ด้วยขีดความสามารถสูง ติดตั้งอาวุธได้หลากหลายรูปแบบ จึงเป็นเครื่องบินรบที่กองทัพอากาศไทยอยากได้มากที่สุด แต่เส้นทางก็ไม่ราบเรียบ ทุ่มงบหลายร้อยล้าน สุดท้าย ก็ล่องหน
เส้นทาง F-35 ก่อนสหรัฐฯ ดับฝันกองทัพไทย
“กองทัพอากาศ” แจงเหตุผลและความจำเป็น โครงการจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35 จำนวน 1 ฝูงบิน เพื่อมาทดแทน 3 ฝูงบิน ที่ทยอยปลดประจำการ คือ F-5 และ F-16 เป็นเวลาอย่างน้อยอีก 40 ปี พร้อมกางแผนไทม์ไลน์ขั้นตอนความคุ้มค่า และระยะเวลากว่าเครื่องจะได้เข้าประจำการ เพื่อทดแทนอากาศยานเก่าที่จะต้องลาจาก
พล.อ.อ. นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ทอ.) พูดในหลายครั้งหลายหนว่า ไทยควรรีบซื้อในขณะนี้ ในช่วงที่ราคาเครื่องบินลดลง จากเดิมที่ 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อลำ ลงมาเหลือ 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อลำ
จนถึงวันดีเดย์ที่เข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เมื่อบ่ายวันที่ 3 ส.ค. 2565 กรรมาธิการงบฯ 66 ก็ลงมติเห็นชอบ ด้วยคะแนน 45 ต่อ 22 เสียง และงดออกเสียง 1 ทำให้ “กองทัพอากาศ” ได้รับงบประมาณ 369 ล้านบาท นำไปจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35A จำนวน 2 ลำ ระยะที่ 1
แต่การจะได้มาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้จะมีงบประมาณในการจัดซื้อ แต่สุดท้ายแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับรัฐสภาสหรัฐฯ ที่จะอนุมัติขายให้ไทยหรือไม่ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไทยมีลุ้นอยู่ตลอด ว่าสหรัฐฯ จะขายให้หรือไม่ สุดท้ายสหรัฐฯ ก็ดับฝันกองทัพไทย และพร้อมคืนเงิน 369 ล้านบาท ทั้งหมด
เปิดประสิทธิภาพ F-35
“F-35” หรือเรียกกันว่า เครื่องบินขับไล่ล่องหน เป็นของบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน ของสหรัฐฯ เป็นเครื่องบินรบรุ่นที่ 5 (Fifth Generation) ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก เริ่มขึ้นบินครั้งแรกในปี 2549 ปัจจุบันมี 3 รุ่น ได้แก่
- F-35A - ออกแบบเพื่อใช้งานบินขึ้นลงปกติบนรันเวย์สนามบิน
- F-35B - ออกแบบเพื่อใช้งานบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งบนเรือบรรทุกเครื่องบิน หรือภารกิจอื่นๆ ที่ไม่มีรันเวย์สำหรับเครื่องบิน
- F-35C - ออกแบบเพื่อใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบินโดยเฉพาะ มีปีกใหญ่กว่ารุ่นอื่นๆ
เครื่องบินขับไล่ F-35 ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบินล่องหน เนื่องจากคุณสมบัติสามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ จึงสามารถเจาะลึกเข้าไปในน่านฟ้าของศัตรู โดยไม่ปรากฏบนจอเรดาร์ โดยเครื่องบิน F-35A รุ่นที่กองทัพอากาศไทยต้องการ มีคุณลักษณะเด่น ตามข้อมูลของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ดังนี้
- แรงขับเคลื่อนขั้นสูง - 43,000 ปอนด์ ทำความเร็วได้สูงสุด 1.6 มัค หรือ 1,931 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีเพดานบินได้สูงสุด 50,000 ฟุต
- ระบบเซนเซอร์ขั้นสูง - รวบรวมและแสดงข้อมูลได้มากกว่าเครื่องบินรบลำใดๆ ในประวัติศาสตร์ ทำให้นักบินได้เปรียบเชิงข้อมูล เพื่อตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะในปฏิบัติการสู้รบ โดยแสดงผลผ่านหน้าต่างช่องมองของหมวกนิรภัย
- ระบบศูนย์เล็งยิงติดหมวก - ระบุเป้าหมายและยิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ความสามารถในการล่องหน - หลีกเลี่ยงการตรวจจับด้วยเรดาห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เปิดเหตุผล สหรัฐฯดับฝัน ไม่ขายเครื่องบิน F-35
นักวิชาการ มองว่า สหรัฐฯ คงต้องปฏิเสธขายเครื่องบินรบ F-35 ให้ประเทศไทย เหมือนกับการปฏิเสธตุรกีและไต้หวัน ปฏิเสธการขายเครื่องบินรบ F-35 ให้ตุรกี เพราะสนิทสนมกับรัสเซียเกินไป กลัวเทคโนโลยีจะหลุดไป รวมทั้ง ปฏิเสธการขายเครื่องบินรบ F-35 ให้ไต้หวัน เพราะมองว่าอาจถูกจีนยึดครองได้ทุกเมื่อ เทคโนโลยีใน F-35 ก็จะตกอยู่ในการครอบครองของจีน เช่นเดียวกับการปฎิเสธขายให้ไทย เพราะไทยสนิทสนมกับจีนพอสมควร และไทยซื้อยุทโธปกรณ์จากจีนหลายอย่าง เช่น เรือรบ เรือดำน้ำ รถถัง อาจทำให้เพิ่มความกังวลต่อสหรัฐฯ ในประเด็นความอ่อนไหวทางเทคโนโลยีของ F-35
ทั้งนี้ นับจนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ ส่งมอบ F-35 ไปแล้วราว 750 ลำ และจะขายให้กับกองทัพของประเทศที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดเท่านั้น โดยในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สหรัฐฯ ขายให้แค่ 4 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
อ้างอิง : วิกิพีเดีย,BBC