ข่าว

ย้อนที่มา 'กกต.' ในระหว่างรอ รับรอง 'ผลการเลือกตั้ง'

ย้อนที่มา 'กกต.' ในระหว่างรอ รับรอง 'ผลการเลือกตั้ง'

25 พ.ค. 2566

ลุ้น 'ผลการเลือกตั้ง' 'กกต.' ก็ยังมีฤทธิ์ แค่มีหลักฐาน อันควรเชื่อได้ว่าทุจริต สส. ก็มีสิทธิถูกสอย ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากศาลฎีการับคำร้อง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ประกอบด้วยกรรมการ 7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ที่จะยังประโยชน์แก่การบริหารและจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จำนวน 5 คน

 

 

เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และเคยดํารงตําแหน่งไม่ต่ํากว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตําแหน่งไม่ต่ํากว่าอธิบดีอัยการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จํานวน 2 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

 

 

กรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

 

  1. จัดหรือดําเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกสมาชิกวุฒิสภาการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ
     
  2. ควบคุมดูแลการเลือกตั้งและการเลือก ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมและควบคุมดูแลการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อการนี้ ให้มีอํานาจสืบสวนหรือไต่สวนได้ตามที่จําเป็นหรือที่เห็นสมควร
     
  3. สั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการเลือกตั้งหรือการเลือก หรือการออกเสียงประชามติ และสั่งให้ดําเนินการเลือกตั้ง เลือก หรือออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วย หรือทุกหน่วยเมื่อพบเห็นการกระทําที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งหรือการเลือกหรือการออกเสียงประชามติม มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
     
  4. สั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือกไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้นั้นกระทําการหรือรู้เห็นกับการกระทําของบุคคลอื่น ที่มีลักษณะเป็นการทุจริต หรือทําให้การเลือกตั้งหรือการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม
     
  5. ดูแลการดําเนินงานของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย
     
  6. หน้าที่และอํานาจอื่นตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

 

ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งหรือการเลือกแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือกผู้ใดกระทําการทุจริตในการเลือกตั้งหรือการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทําของบุคคลอื่น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น

 

หากศาลฎีกาพิพากษาว่าบุคคลตามวรรคหนึ่งกระทําความผิดตามที่ถูกร้อง ให้ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลาสิบปี และต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อศาลฎีการับคำร้องไว้พิจารณา จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่ามิได้กระทำความผิด

 

ในระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ห้ามมิให้จับกุมคุมขัง กกต. หรือ เรียกตัวไปสอบสวน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือในกรณีที่จับในขณะกระทําความผิด

 

ที่มา : รัฐธรรมนูญ 2560