'ประธานรัฐสภา' มีอำนาจ-หน้าที่ อะไร ทำไมถูกหมายปองจาก พรรคการเมือง
ศึกชิงเก้าอี้ 'ประธานรัฐสภา' มีอำนาจ-หน้าที่ อะไร ทำไมถูกหมายปองจาก พรรคการเมือง ย้อนหน้าตา ประธานสภาผู้แทนราษฎร จากรัฐบาลเสียงข้างมาก
เก้าอี้ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” หรือ “ประธานรัฐสภา” กลายเป็นอีกตำแหน่งสำคัญ รองจากเก้าอี้รัฐมนตรี ที่มีการช่วงชิง และถูกจับตาว่า จะเป็นผู้มาจากพรรคการเมือง ที่คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง หรือมาจากพรรคร่วมรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง 2566 เสร็จสิ้นลง
“ประธานสภาผู้แทนราษฎร” หรือ “ประธานรัฐสภา” มีบทบาท หน้าที่ และมีความสำคัญอย่างไร ทำไมถึงดูหอมหวาน ใครก็อยากได้เก้าอี้นี้มาครอง แล้วที่ผ่านมา ประธานรัฐสภา ที่มาจากพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง มีใครบ้าง คมชัดลึก สรุปข้อมูลมาเป็นความรู้
“ประธานรัฐสภา มีหน้าที่อะไร
ตามข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 5 ประธานรัฐสภา มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
- เป็นประธานของที่ประชุมรัฐสภา และต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
- กำหนดการประชุมรัฐสภา
- ควบคุมและดำเนินกิจการของรัฐสภา
- รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมรัฐสภา ตลอดถึงบริเวณของรัฐสถา
- เป็นผู้แทนรัฐสภาในกิจการภายนอก
- แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใดๆ ตาม (7)
- หน้าที่และอำนาจอื่น ตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
ทั้งนี้ ความสำคัญของตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น “ประธานรัฐสภา” ด้วยอีกตำแหน่ง บทบาทแรกที่ชัดเจน คือ การเป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ หลังที่ประชุมรัฐสภา ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ
ประธานรัฐสภา ใครเป็นคนเลือก
ตามตัวบทของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีประธานสภาฯ 1 คน และรองประธาน 1 หรือ 2 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎรตามมติของสภา
- ในการเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ นั้น สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้ 1 ชื่อ โดยการเสนอนั้น ต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ถ้าหากว่ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้น เป็นผู้ได้รับเลือก ถ้าหากมีการเสนอชื่อหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ เมื่อลงมติเสร็จสิ้นแล้ว ให้ประธานประกาศชื่อผู้ใดรับเลือกต่อที่ประชุม และให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์
- เมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภา หรือมีแต่ไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ในกรณีที่มีรองประธานสภา 2 คน ให้รองประธานสภาคนที่ 1 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา ถ้ารองประธานสภาคนที่ 1 ไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา
ย้อนเก้าอี้ “ประธานรัฐสภา”
- ปี 2535 นายมารุต บุนนาค จากพรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย (ได้ที่นั่ง สส.สูงสุด 79 เสียง)
- ปี 2538 พล.ต. บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ จากพรรคชาติไทย ภายใต้รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา (ได้ที่นั่ง สส.สูงสุด 92 เสียง)
- ปี 2539 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคความหวังใหม่ รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (ได้ที่นั่ง สส.สูงสุด 125 เสียง)
- ปี 2543 นายพิชัย รัตตกุล พรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย หรือ "รัฐบาลชวน 2" (มิ.ย.- พ.ย. 2543 โดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาลในเดือน พ.ย. 2540 จากการดึง สส.พรรคประชากรไทย ชิงตั้งรัฐบาล หลังจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี )
- ปี 2544 นายอุทัย พิมพ์ใจชน พรรคไทยรักไทย รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร (ได้ที่นั่ง สส.สูงสุดในสภา 248 เสียง)
- ปี 2548 นายโภคิน พลกุล พรรคไทยรักไทย รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร (ได้ที่นั่ง สส.สูงสุด 377 เสียง
- ปี 2551 นายยงยุทธ ติยะไพรัช พรรคพลังประชาชน รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช (ได้ที่นั่ง สส.สูงสุด 233 เสียง)
- ปี 2551 นายชัย ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากมีการยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ได้แก่ พลังประชาชน, ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย นายชัย ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเปลี่ยนขั้วมาเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์
- ปี 2554 นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ พรรคเพื่อไทย รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ได้ที่นั่ง สส.สูงสุด 265 เสียง)
ทั้งนี้ ในปี 2557 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่วนในปี 2562 ประธานรัฐสภา คือ นายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ (ได้ที่นั่งในสภา 52 เสียง พรรคอันดับ 4 ) ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรคพลังประชารัฐ 116 เสียง)
- ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนแรกคือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้รับการแต่งตั้งเข้าทำหน้าที่ 28 มิถุนายน 2475
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้ง 2566 เป็นที่ชัดเจนว่า พรรคก้าวไกล เป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียง 151 คะแนน ซึ่งถือเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ในการจัดตั้งรัฐบาล และ เก้าอี้ประธานรัฐสภา ที่คาดว่า ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ต้องตกเป็นของพรรคก้าวไกล แต่ก็เกิดข้อถกเถียง เหมือนแย่งชิงเก้าอี้ ระหว่างก้าวไกล กับเพื่อไทย ที่อยากให้แบ่งหน้าที่ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ
แต่หากพูดกันแบบเข้าใจง่ายๆ ด้วยบทบาทหน้าที่ของตำแหน่ง “ประธานรัฐสภา” เป็นเหมือนคนคุมเกม ที่สามารถนัดประชุมสภา, สั่งปิด หรือ สั่งพักประชุม,การนำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ และที่สำคัญ มีอำนาจบรรจุวาระ-จัดลำดับวาระการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติได้ ที่แน่นอนว่าย่อมมีผลกับอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมาย
ประธานรัฐสภา ได้รับเงินเดือนเท่าไร
ตามที่ระบุไว้ในวิกิพีเดีย เงินตอบแทน 50,000 บาท (รวมกับเงินเดือนประจำตำแหน่งอีก 75,590 บาท)
อ้างอิง : วิกิพีเดีย