'พิธา' มั่นใจ 'ขึ้นค่าแรง' 450 บาท ผลงาน 100 วันแรก รัฐบาลแกนนำ 'ก้าวไกล'
'พิธา' มั่นใจ 'ขึ้นค่าแรง' 450 บาท ทำได้ 100 วันแรก หลังตั้งรัฐบาลสำเร็จ ดูแลทั้งระบบลูกจ้าง นายจ้าง เดินหน้าผลักดันแก้ พ.ร.บ.แรงงาน ขึ้น 'ค่าแรง' ทุกปี
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ยืนยัน นโยบายค่าแรง 450 บาท ทำได้ 100 วันแรกหลังเป็นรัฐบาล ซึ่งให้สัมภาษณ์หลังหารือกับแรงงานกลุ่มต่างๆ จากทั้ง 45 สหภาพ ที่เทศบาลบางเสาธง จ.สมุทรปราการ เนื่องจากนโยบายแรงงานเป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญมาโดยตลอด จะเห็นได้ว่าในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล (MOU) ข้อที่ 19 ระบุเรื่องการยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นายพิธา ระบุ ตอนนี้เดินหน้าพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นภาพรวมทางเศรษฐกิจทั้งหมดและเห็นความจำเป็นร่วมกันว่า ทำไมต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน โดยยืนยันว่าพรรคก้าวไกลคิดเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เสนอนโยบายเป็นแพ็กเกจ ทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน เช่น สิทธิในการรวมตัว สิทธิลาคลอด 180 วัน การกำหนดชั่วโมงทำงาน และการดูแลผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ประกอบการ เช่น การที่รัฐช่วยสมทบค่าประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้างในช่วง 6 เดือนแรกหลังการขึ้นค่าแรง การเปิดให้ SME นำค่าแรงมาหักค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 2 เท่าในช่วง 2 ปีแรก นโยบายหวยใบเสร็จ เป็นต้น
"เรื่อง ค่าแรง 450 บาท ต่อวัน เราไม่ได้คิดเอง แต่พิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพของแรงงาน เพื่อให้ค่าแรงเป็นอัตราที่ยุติธรรมต่อคนทำงาน เดินทางมาวันนี้เพื่อยืนยันว่าเราจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ จะดูแลทั้งพี่น้องแรงงานและผู้ประกอบการ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ" พิธากล่าว
โดยต้องเดินหน้าพูดคุยเหมือนที่ไปพบกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และจะเดินหน้าคุยกับหอการค้าและสภานายจ้างต่อไป เพื่อให้เห็นภาพทั้งองคาพยพ และจะแก้ปัญหาให้เป็นครั้งสุดท้ายได้อย่างไร เพราะหากต่อไปแก้ไขเรื่อง พ.ร.บ.แรงงานได้ ค่าแรงจะขึ้นอัตโนมัติทุกปี ตามค่าเงินเฟ้อหรืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขึ้นน้อย ขึ้นบ่อย ไม่ใช้นานๆขึ้นทีแบบปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถทำให้บริหารได้ทั้งแรงงานและบริษัท
ส่วนจะส่งผลต่อการย้ายฐานการผลิตในกลุ่ม เอสเอ็มอี หรือไม่ นายพิธา มองว่า การจะเลือกประเทศฐานผลิตเรื่องค่าแรงเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง เช่น บุคลากรที่พร้อม มีการคอรัปชั่น ระบบภาษี ตลาดในประเทศ ภาษีส่งออก เพราะเท่าที่ตนได้พูดคุยกับนักธุรกิจ การย้ายฐานการผลิตมี 8-9 ปัจจัย เรื่องค่าแรงเป็นเพียงแค่ 1 เรื่อง