ข่าว

‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ในกงล้อการเมืองแบบไทยๆ เคยเกิดขึ้นจริงหรือ?

‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ในกงล้อการเมืองแบบไทยๆ เคยเกิดขึ้นจริงหรือ?

01 มิ.ย. 2566

‘รัฐบาลแห่งชาติ’ กระชากความรู้สึก 'พลังส้ม-แดงเดือด' เรียงหน้าซัด สว.ขวาจัดชนิดไม่ไว้หน้า แล้วรัฐบาลแห่งชาติ คืออะไร? ส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างไร? ทำไมมีการพูดถึงในช่วงที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล

‘รัฐบาลแห่งชาติ’ หรือ National Unity Government มีความหมาย เป็น ‘รัฐบาลผสม’ ประกอบด้วยทุกพรรคการเมือง ในสภานิติบัญญัติ ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ปกติรัฐบาลแห่งชาติ จะถูกตั้งในยามบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม หรือเมื่อเกิดภัยพิบัติของชาติ

 

รัฐบาลแห่งชาติ สไตล์การเมืองแบบไทยๆ หมายถึงการจัดตั้ง ‘รัฐบาลชั่วคราว’ หรือ ‘รัฐบาลเฉพาะกิจ’ ที่ไม่มีฝ่ายค้าน มีเพียงฝ่ายรัฐบาล เป้าหมายเพื่อความสงบสุขของประเทศ และยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลานั้นๆ

 

ย้อนไทม์ไลน์ปลุกกระแส 'รัฐบาลแห่งชาติ'

ย้อนอดีต ปี2549 ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ในวงวนการเมืองไทยถูกพูดถึงอยู่หลายครั้ง ไล่มาตั้งแต่ ‘บิ๊กจิ๋ว’ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ขงเบ้งเมืองไทย ที่เสนอให้มี ‘นายกฯคนกลาง’ ที่มาพร้อมกับ‘รัฐบาลสมานฉันท์’ เพื่อลดความขัดแย้งในสังคมหลังพรรคไทยรักไทยลงสนามเลือกตั้งเพียงพรรคการเมืองเดียว และเกิดมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

 

ปี2553 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น เรียกร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วจัดตั้ง ‘รัฐบาลแห่งชาติเพื่อความปรองดอง’ ใช้เวลา 3 เดือนตกลงกรอบกติกาเลือกตั้งให้เป็นธรรม ก่อนยุบสภา หลังเกิดเหตุนองเลือดจากปฏิบัติการขอคืนพื้นที่การชุมนุม นปช. บริเวณสี่แยกคอกวัว กรุงเทพมหานคร(กทม.)

 

ปี2556-2557 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางจัดตั้ง ‘รัฐบาลเฉพาะกาลคนกลางที่เกิดขึ้นบนความยอมรับของทุกฝ่าย’ เพื่อบริหารการจัดทำข้อเสนอเรื่องการทำประชามติ การปฏิรูป และการเลือกตั้ง หลังเกิดการชุมนุมของมวลชน กปปส.

 

ปี2559 เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีการเสนอตั้งคำถามพ่วงในการทำประชามติ ในปี 2559 เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการตั้ง“รัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป”แต่ข้อเสนอตกไปในชั้น สปช. เสียก่อน

 

ปี2562 เทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ สส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และแก้รัฐธรรมนูญ โดยมีวาระเพียงแค่ 2 ปี จากนั้นให้คืนอำนาจแก่ประชาชนและจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะ เทพไท มองว่า การเมืองเสี่ยงจะถึงทางตัน เนื่องจากแต่ละฝ่ายที่อยากจะจัดตั้งรัฐบาลมีเสียงแบบ ‘ปริ่มน้ำ’ จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ไม่มีความมั่นคง หากต้องอาศัยเสียงสภาโหวตรับรอง

 

ครั้งล่าสุด ปี2566 จเด็จ อินสว่าง  สว.ปีกขวาจัด สิงห์แดงรุ่น 17 ผู้มากคอนเนกชั่นการเมือง ทายาทกำนันวิภาส บ้านใหญ่แห่งบ้านกร่าง เมืองสุพรรณบุรี ชูแนวคิดในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ในฐานะรองประธาน กมธ. ว่า สิ่งที่ตอบโจทย์การเมืองได้ตอนนี้คือรัฐบาลแห่งชาติ โดยแต่ละพรรคนำข้อดีของตนเองร่วมทำงานเพื่อบ้านเมือง สร้างความแข็งแกร่งของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้ทุกพรรคนำส่วนที่ดีมาทำงานร่วมกัน ประสานประโยชน์ พุ่งเป้าที่ความมั่นคงของชาติ

 

รัฐบาลแห่งชาติไม่เคยเกิดขึ้นจริง

แนวคิดตั้ง ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ไม่เคยเกิดขึ้นจริง แม้ถูกเสนอมาแล้ว 5 ครั้ง และในครั้งที่ 6 สถานการณ์ทางการเมืองไทย เพิ่งผ่านการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 ยังไม่ถึงเดือน ‘ก้าวไกล’ เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงอันดับหนึ่ง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินหน้าเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคการเมือง 312 เสียง แต่ทุกอย่างเป็นเพียงการเตรียมการเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยังไม่รับรองผลเลือกตั้ง สส. 500 คน

 

ทว่า ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ อาจเป็นได้เพียงการโยนหินถามทาง ถึงความเป็นไปได้ กับอนาคตการเมืองแบบไทยๆ แต่สำหรับแนวคิดนี้กระแสสังคมไทยไม่ตอบรับเหมือนในอดีต

 

...กมลทิพย์ ใบเงิน...เรียบเรียง