ข่าว

'ญาติวีรชนฯ' เล็งยื่น ป.ป.ช. ถอดถอน ‘นายกฯ’ และ ครม.

'ญาติวีรชนฯ' เล็งยื่น ป.ป.ช. ถอดถอน ‘นายกฯ’ และ ครม.

02 มิ.ย. 2566

'ญาติวีรชน พฤษภา 35' เตรียมยื่น ป.ป.ช. 6 มิ.ย.นี้ ถอดถอน ‘นายกฯ’ และ ‘ครม.’ เหตุออก พ.ร.ก. เลื่อนใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย ขัดรัฐธรรมนูญ น่าห่วงไม่รู้มีคนถูกอุ้มหายไปแล้วกี่ราย ‘อดุลย์’ จี้ลาออกแสดงความรับผิดชอบ

ที่ห้องประชุมด้านหลัง อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กทม. นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และญาติผู้สูญหายในเหตุการณ์พฤษภา 35,นายพิภพ ธงไชย ประธานที่ปรึกษาญาติวีรชนฯ ,พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ,นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. 

และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 แถลงข่าว เตรียมยื่นคำร้องต่อ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้ถอดถอนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณี “จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” เป็นการ “ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ในการออก พ.ร.ก.เลื่อนการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ สี่มาตราออกไปโดยไม่มีอำนาจทำได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง

ญาติวีรชน พฤษภา 35

 

โดยนายเมธา กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า การออกพ.ร.ก. ของพล.อ.ประยุทธ์ และครม. ขัดรัฐธรรมนูญเป็นการออกพระราชกำหนดโดยไม่ชอบ ซึ่งรัฐบาลปกติจะต้องมีการรับผิดชอบทางการเมืองไม่ยุบสภาก็ลาออก แต่กลับมีคำแก้ตัวของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่บอกว่า “ยุบสภาไปแล้วไม่รู้จะรับผิดชอบยังไง”

 

แม้จะยุบสภาไปแล้ว ความรับผิดชอบทำได้หลายกรณีไม่ว่าจะเป็นการลาออก หรือการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยออกแถลงการณ์ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบแต่ก็ไม่มีท่าทีใดๆ

 

ด้านนายอดุลย์ กล่าวว่า การออก พ.ร.บ.อุ้มหาย เป็นประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพราะญาติวีรชนผู้สูญหายจำนวนหนึ่งมากกว่าที่รัฐบาลประกาศไว้ จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้กลับคืนมา เราเรียกร้องมาตลอดหลายปี แต่ก็ถูกเพิกเฉย ญาติวีรชนจึงได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ แต่ที่สำคัญคือความเสียหายของประชาชนควรจะได้รับความคุ้มครองจากพ.ร.บ.อุ้มหาย

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35

 

“อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนแทนที่รัฐบาลจะส่งเสริม แต่กลับขัดขวาง แม้จะไม่กี่เดือนแต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว” นายอดุลย์ ระบุ

 

โดยเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์รับผิดชอบ ร่วมกับนายวิษณุ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสนอเรื่องนี้ขึ้นมา ถึงแม้พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี แต่สามารถลาออกได้ เพื่อหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวแล้วให้คนอื่นมาทำแทน

 

ขณะที่ พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ไม่คิดว่ารัฐบาลกล้าที่จะออกพ.ร.ก.เพื่อมาเลื่อนการใช้พ.ร.ก.4 มาตรา จึงขอประณามการออก พ.ร.ก. ฉบับนี้ ที่เป็นความผิดอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงเป็นการจงใจกระทำความผิดฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ นอกจากไม่แสดงความรับผิดชอบแล้วก็ยังท้าทายอีกว่าให้ไปยื่น ป.ป.ช. ซึ่งวันที่ 6 มิ.ย. 2566 จะไปยื่น ป.ป.ช. ที่มีหน้าที่ในการไต่สวน และส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไป และเมื่อศาลฎีกาประทับรับฟ้องคณะรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

 

ส่วนนายพิภพ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำไปในขณะเป็นรัฐบาล หากลาออกเจ้าหน้าที่ข้าราชการก็ยังคงรักษาการได้ และเรียกร้องให้นักการเมืองชุดใหม่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.อุ้มหาย อย่างเต็มที่

 

“เรื่องอุ้มหายไม่ใช่เรื่องเล่นของ สังคมไทยเป็นเรื่องจริงจังระดับโลกที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยจะเดินได้ พื้นฐานสิทธิมนุษยชนต้องยังคงอยู่ เพราะตลอดเวลาที่ พ.ร.บ.อุ้มหายไม่ได้ถูกบังคับใช้ เราไม่รู้หรอกว่ามีคนถูกอุ้มหายไปแล้วกี่ราย” นายพิภพกล่าว