ส่องไทม์ไลน์นักร้อง ‘เรืองไกร-สนธิญา-ศรีสุวรรณ’ รุมขย่ม ‘พิธา’ ปมหุ้น ITV
เปิดไทม์ไลน์สายร้อง ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ - สนธิญา สวัสดี - ศรีสุวรรณ จรรยา” สลับหน้าขย่ม ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ทั้งปมถือหุ้น ITV พูดยี่ห้อโฆษณาเหล้าผ่านสื่อ
คมชัดลึก เกาะติดปมร้อนรุมเร้า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรีตาม MOU จาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล
ปมร้อนหลักๆ ณ เวลานี้ ทั้งประเด็นคุณสมบัติต้องห้ามของสส. กับการถือหุ้นสื่อ ITV และ ล่าสุดกับปมพูดโฆษณาเหล้าผ่านรายการกรรมกรข่าว ที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แต่ทว่าทั้ง 2 ประเด็น จะวนเวียนการยื่นร้องอยู่เพียง 3 คน ที่ภาษาชาวเน็ตเรียกว่าเป็นสายร้องบ้าง นักร้องบ้าง ที่เรียงคิวสลับวันกันไปยื่นและให้ข้อมูลกับ กกต.
คมชัดลึก รวบรวมไทม์ไลน์การยื่นร้องของ 3 นักร้อง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ - สนธิญา สวัสดี - ศรีสุวรรณ จรรยา นับตั้งแต่ระหว่างการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 เสร็จสิ้น ทั้งประเด็นการถือหุ้นสื่อ ITV และ โฆษณาเหล้าผ่านสื่อ โดยมีไทม์ไลน์ ดังนี้
10 พ.ค. 66
- นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องให้ กกต. ตรวจสอบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และมาตรา 42 (3) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. เนื่องจากถือหุ้น itv หรือไม่
11 พ.ค. 66
- นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นำข้อบังคับของพรรคก้าวไกลมายื่นเพิ่มเติมต่อ กกต. และจับประเด็นว่านายพิธาจะพ้นจากสมาชิก และหัวหน้าพรรคหรือไม่ เพราะข้อบังคับพรรคก้าวไกลมีการแก้ไขลงในราชกิจจานุเบกษา ปี 2563 ซึ่งข้อบังคับพรรคในข้อ 12,21,37 ซึ่งในข้อ 12 ระบุว่าสมาชิกต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ดังนั้นเมื่อระบุเช่นนี้ มาตรา 98 (3) ก็จะทำให้พ้นสมาชิกหรือไม่ และกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งหัวหน้าพรรค ก็จะต้องขาดจากความเป็นหัวหน้าพรรคโดยสิ้นสุดเฉพาะตัว รวมถึงคณะกรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ตามข้อบังคับพรรคก้าวไกลข้อที่ 36
- นายศรีสุวรรณ ยื่นกกต.สอบนโยบายเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย หลังจากให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเสร็จสิ้น กลับถูกนายทศพล อ้างตัวเป็นอดีตอาจารย์ บุกตบใบหน้าของนายศรีสุวรรณ จนปากแตก และมีร่องรอยเลือดไหลที่มุมปาก
12 พ.ค. 66
- นายสาคร ปลื้มรัมย์ อายุ 65 ปี อาชีพทนายความ ยื่นหนังสือร้อง กกต.กลางผ่าน กกต.บุรีรัมย์ ให้ตรวจสอบและสั่งการให้นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยุติการกล่าวหานายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เพราะเข้าข่ายโจมตีเพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด คล้ายเป็นการกลั่นแกล้งมากกว่า
- นายสนธิญา ยื่นเรื่องร้อง กกต.ตรวจสอบกรณีนายพิธาถือครองหุ้น ITV อาจเข้าข่ายขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
13 พ.ค. 66
- นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนจึงส่งหนังสือไปถึง กกต. ทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ตรวจสอบว่า นายพิธา ในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลนั้น มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ตามความใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (3) หรือไม่
16 พ.ค. 66
- นายเรืองไกร ยื่นกกต. ขอให้ตรวจสอบเพิ่มเติม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรณีเข้าข่ายพ้นจากสมาชิกพรรคและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 24 หรือไม่ และจะมีความผิดตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 112 วรรคหนึ่งหรือไม่ สืบเนื่องจากกรณีการถือครองหุ้นสื่อ ITV
17 พ.ค.66
- นายศรีสุวรรณ ยื่นกกต.ขอให้แจ้งหรือสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง ด้วยการลงโทษ น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับที่ 27 โดนตำรวจจับเมาแล้วขับ โดยวัดค่าแอลกอฮอล์ได้ 66 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สูงกว่ากฎหมายกำหนด (50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)
19 พ.ค. 66
- นายสนธิญา ยื่นเรื่องเร่งกกต. ให้สอบเรื่องการถือหุ้นสื่อบริษัทไอทีวีของนายพิธา
24 พ.ค.66
- นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เข้ายื่น กกต. เพื่อให้ตรวจสอบ 8 พรรคที่ร่วมกันลงนามเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พ.ค. เข้าข่ายผิดมาตรา 28 พระราชบัญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่ การเซ็นเอ็มโอยูของ 8 พรรค มีหัวหน้าพรรคทั้ง 8 พรรคเซ็นลงนาม เมื่อเห็นเช่นนั้นก็นึกไปถึงว่ารัฐธรรมนูญ ระบุให้ ส.ส.ต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติมอบหมาย ตามมาตรา 28 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ได้ห้ามพรรคการเมืองไม่ให้กระทำการที่จะให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิก เพราะสิ่งที่ไปลงนามก็เท่ากับเป็นการไปยอมรับเงื่อนไขในการทำกิจกรรมทางการเมืองจากอีก 7 พรรค อยากให้ กกต.ตรวจสอบว่าเข้าข่ายมาตรา 28 หรือไม่ เพราะ 7 พรรคที่มาเซ็นลงนามกับพรรคก้าวไกลไม่สามารถจะเป็นสมาชิกพรรคได้ คนๆ หนึ่งจะเป็นสมาชิกพรรคซ้อนกัน 2 พรรคไม่ได้ เท่ากับเป็นการยอมให้ 7 พรรคตกลงเงื่อนไข ซึ่งที่ผ่านมาธรรมเนียมปฏิบัติการตั้งรัฐบาลส่วนใหญ่ก็แค่จับไม้จับมือและแถลงข่าว ไม่มีการเซ็นเอกสารอะไร ฉะนั้น จึงย้อนไปนึกถึงลงนามเอ็มโอยู สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายนพดล ปัทมะ จะมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่
29 พ.ค. 66
- นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เข้าให้ถ้อยคำต่อ กกต. และยื่นหลักฐานเพิ่มเติมเป็นกรณีคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญที่ 20/2563 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัคร ส.ส.เนื่องจากถือครองหุ้นสื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง โดยศาลให้มีผลนับแต่วันสมัคร ส.ส. คือวันที่ 6 ก.พ. 62 โดยเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาล ดังกล่าวยึดตามตัวบทกฎหมายเพียงว่า นายธัญญ์วาริน ถือหุ้นหรือไม่ และบริษัทยังประกอบกิจการ หรือมีความสามารถที่จะกลับมาประกอบกิจการได้หรือไม่ โดยไม่ได้มีการวางหลักต้องถือมากน้อยแค่ไหน
- นายสนธิญา สวัสดี ยื่นขอให้ กกต.ระบุระยะเวลาในการตรวจสอบเรื่องที่นายพิธา ถูกร้องว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ และได้คำตอบว่าจะทำคดีให้เสร็จหลังรับรอง ส.ส.แล้ว และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ
1 มิ.ย. 66
- นายศรีสุวรรณ ยื่นพยานหลักฐานเกี่ยวกับการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ของนายพิธา จำนวน 42,000 หุ้น เพื่อเป็นการตอก ย้ำข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.98 (3) หรือไม่ให้ได้แน่นหนามากยิ่งขึ้น
6 มิ.ย. 66
- นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นหนังสือถึง กกต. เพื่อแสดงหลักฐานบางส่วนจากคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่อาจทำให้เห็นได้ว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่ว่า สปน.บอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงาน กับ ITV โดยไม่มีสิทธิหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลปกครองกลาง เห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจึงขอให้ กกต.ตรวจสอบว่าสัญญาเข้าร่วมงานยังควรถือว่ามีผลอยู่หรือไม่
7 มิ.ย. 66
- นายสนธิญา สวัสดี ยื่นกกต.ให้ยุบพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ในกรณีที่พรรคก้าวไกล โดยเฉพาะนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มีกรณีถือหุ้นไอทีวี เป็นการทำผิดข้อบังคับพรรคการเมือง ซึ่งนายพิธา ได้ทำผิดข้อบังคับของพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย ก่อนจะกลายมาเป็นพรรคผึ้งหลวง และพรรคก้าวไกลตามลำดับ
- นายศรีสุวรรณ ยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค เพื่อชี้เป้าเอาผิดนายพิธา หลังจากเจ้าตัวไปออกรายการ กรรมการข่าว “คุยนอกจอ” ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ทางช่องยูทูป ซึ่งในการให้สัมภาษณ์ นายพิธากล่าวตอนหนึ่งถึงนโยบายสุราก้าวหน้า และรสนิยมการดื่มของตัวเอง พร้อมก้บเปิดเผยชื่อยี่ห้อและเชียร์สุราชุมชนที่ตัวเองดื่มหลายชื่อ อันเข้าข่ายเป็นการโฆษณา ต้องห้ามตามกฎหมาย