ข่าว

ค้ำประกันหนี้ 460 ล้าน  สายล่อฟ้า  'พิธา'  เสี่ยงเข้าข่าย ปกปิด ป.ป.ช.

ค้ำประกันหนี้ 460 ล้าน สายล่อฟ้า 'พิธา' เสี่ยงเข้าข่าย ปกปิด ป.ป.ช.

08 มิ.ย. 2566

ว่าที่นายกรัฐมนตรีแห่งพรรคก้าวไกล "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" อยู่ในภาวะของการถูกตรวจสอบแบบ 360 องศา ครอบคลุมทุกมิติ คราวนี้เป็นประเด็นความเสี่ยง ว่าด้วยการไปค้ำประกันหนี้ แต่ไม่ได้แจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน อาจข้าข่ายปกปิดตามที่ยื่นเรื่องไว้ต่อ ป.ป.ช.

"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบพบว่า ภาระการค้ำประกันหนี้ที่กำลังกลายเป็นปัญหาให้กับ  นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่แคนดิเตตนายกฯ ทั้งนี้นายพิธา  เข้าไปค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินให้กับบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ออยล์ฟอร์ไลฟ์ จำกัด ธุรกิจผลิตน้ำมันรำข้าว ของครอบครัว  "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"   ในช่วงที่ "นายพิธา" เป็นกรรมการและดำรงตำแหน่ง Co-Founder & Managing Director ระหว่างวันที่ 5 ต.ค.   2549  - 6 มี.ค. 2560 

 

 

 

จากเอกสารผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตได้จัดทำหมายประกอบงบการเงินบริษัท ออยล์ฟอร์ไลฟ์ จำกัด สำหรับปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ไว้ในข้อ 11 ระบุข้อความดังนี้ 

.

"ภาระสินเชื่อ กิจการมีสินเชื่อกับสถาบันการเงิน โดยได้นำที่ดิน อาคาร เครื่องจักร และเงินฝากธนาคารไปเป็นหลักประกันทั้งมีกรรมการ และบริษัท พรพนา พาณิช จำกัด เป็นผู้ค้ำประกัน"

.

ในเอกสารฉบับดังกล่าวมีการลงนามรับรองโดย นายแสง ลิ้มเจริญรัตน์ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะกรรมการ

.

ขณะที่ปี 2559 ในหมายเหตุงบการเงินก็เขียนแบบเดียวกันแต่ไม่มีกรรมการลงนามรับรองเอกสาร เนื่องจากผู้ตรวจสอบบัญชีให้ความเห็นว่าเป็นงบการเงินที่ไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ปี 2562 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ว่ามีรายได้รวม 2,617,937.18 บาท มีรายจ่ายรวม 1.28 ล้านบาท มีทรัพย์สินรวม 137,785,190.85 บาท และมีหนี้สินรวม 22,954,064 บาท โดยมีหนี้สินได้แก่ เงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น 259,575 บาท ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ 3 สัญญา ธนาคารธนชาต 1 สัญญา หนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ 22,694,489 บาท ประกอบด้วย ธนาคารยูโอบี ยอดหนี้คงเหลือ 21,811,981 บาท ลิสซิ่งกสิกรไทย ยอดหนี้คงเหลือ 882,508 บาท

 

 

อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวต้องดูว่านายพิธิได้มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อป.ป.ช.เพิ่มเติมหรือไม่ อีกทั้งต้องดูว่าในการทำสัญญาค้ำประกันหนี้เป็นการทำสัญญาค้ำประกันส่วนตัวหรือในฐานะกรรมการบริษัท สัญญาดังกล่าวมีผลผูกพันนายพิธาตามาหลังจากลาออกจากกรรมการและผู้บริหารบริษัทหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ป.ป.ช.จะต้องตรวจสอบ

 

 

ตามกฎหมายป.ป.ช.บัญญัติว่า ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดว่าผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สิน หรือหนี้สินต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

 

 

เมื่อตรวจสอบหนี้สินที่บริษัท ออยล์ฟอร์ไลฟ์ จำกัด มีภาระกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ในช่วงที่นายพิธาเป็นกรรมการบริษัทในปีสุดท้าย พบว่า

.

บริษัท ออยล์ฟอร์ไลฟ์ จำกัด มีหนี้สินกับสถาบันการเงินรวม 460.3 ล้านบาท ประกอบด้วย 

.

เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้น 354,261,817.40 บาท 

.

ส่วนของหนี้สินระยะยาวที่ถึงชำระภายใน 1 ปี จำนวน 41,011,004 บาท 

.

เงินกู้ยืมระยะสั้น 11,034,359.65 บาท 

.

เงินกู้ยืมระยะยาว 53,993,755.23 บาท

.

หนี้สิน บริษัท ออยล์ฟอร์ไลฟ์ จำกัด

.

ส่วนเงินฝาก ณ สิ้นปี 2559 มีจำนวนรวม 20.6 ล้านบาท ประกอบด้วย

.

เงินฝากออมทรัพย์ จำนวน 14,111,873.73 บาท

.

เงินฝากกระแสรายวัน 6,494,278.14 บาท

.

 

ขณะที่ ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ณ สิ้นปี 2559 มีมูลค่าสุทธิ 244,381,438 บาท โดยที่ดิน อาคารและเครื่องจักร ได้จดจำนองเป็นหลักประกันหนี้ทุกชนิดไว้กับสถาบันการเงิน หลังหักค่าเสื่อมราคาแล้วมีมูลค่า 235.16 ล้านบาท ดังนี้

ที่ดิน 21,055,626 บาท 

อาคาร 73,608,954.29 บาท

เครื่องจักร 140,503,699.63 บาท

รายการที่ดิน อาคารและเครื่องจักรบริษัท ออยล์ฟอร์ไลฟ์ จำกัด

 

 

 

7 มิ.ย.  2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์   หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ประเด็นดังกล่าวว่า เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะได้ประสานงานกับป.ป.ช.มาโดยตลอด ยังไม่เห็นข้อมูลทั้งหมด หากมีผู้ร้อง ยินดีชี้แจง ไม่ได้มีอะไรน่ากังวล และเป็นเรื่องปกติที่มีการนำเรื่องต่าง ๆ มาสกัดกั้น แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด

 

 

ขณะที่นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ชี้แจงกับ  "เนชั่นทีวี "ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด เพราะเพิ่งได้รับเรื่องมา ได้ทำหนังสือสอบถาม ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องตรวจสอบต่อแล้ว ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการตอบกลับข้อมูล   

 

 

สำหรับข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้ ป.ป.ช.ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า มีมูลจริงหรือไม่ เพราะต้องตรวจสอบย้อนหลังไป 4 - 5 ปี หากมีมูลความผิด จะต้องตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง แต่จะดูเจตนาเป็นหลักว่า จงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตั้งแต่แรกหรือไม่

 

 

ส่วนสถานะบริษัท ออยฟอร์ไลฟ์ จำกัด ในปี 2562 บริษัทได้ผิดนัดชำระหนี้ทั้งในส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้น และเงินกู้ยืมระยาวกับทางธนาคารแหลายแห่ง ทางธนาคารในฐานะเจ้าหนี้ได้ดำเนินการฟ้องร้องแก่ศาล เพื่อให้ทางบริษัทชำระหนี้ ต่อมาบริษัทได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ และศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2565 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ศาลล้มละลายกลางได้นัดฟังคำสั่งจำหน่ายคดี 

 

.

ที่มาข้อมูล : ฐานเศรษฐกิจ