'ก้าวไกล'ถกองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน - พิธา ประกาศ ล้างบาง องค์กรอิสระ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีมหารือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) รับเป็นหนี้บุญคุณเพราะได้ข้อมูล จนนำไปขยายผลให้สังคมรับรู้ ชูทำงาน 100 วัน รื้อขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างให้ตรวจสอบได้ ส่วนที่เป็นไฮไลท์ แจงกับสื่อมีเป้าหมายล้างบาง "องค์กรอิสระ"
ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ ถนนพระราม 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมคณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคก้าวไกล นำโดย นายรังสิมันต์ โรม , นายปกรณ์วุฒิ พิพัฒน์สกุล ,นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ และ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ได้เข้าพบ นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT เพื่อแลกเปลี่ยนนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ทันทีที่พบกัน นายพิธา และนายวิเชียร ได้กำมือขวาทับมือซ้าย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ การต่อต้านคอร์รัปชัน ร่วมกัน
นายพิธา กล่าวระหว่างการหารือว่า ที่ผ่านมา ในการตรวจสอบหรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคก้าวไกลได้ขอข้อมูลจาก ACT มาโดยตลอด เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการเสาไฟกินนรี เป็นต้น ซึ่งตลอด 4 ปีกับการทำหน้าที่ สส. ได้เห็นการทุจริตคอร์รัปชั่นในรูปแบบต่างๆ และวันนี้ พรรคก้าวไกลอยากมารับฟังข้อเสนอแนะจากทาง ACT พร้อมนำเสนอนโยบายของพรรคก้าวไกล เพื่อนำไปสู่การต่อยอดแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นที่มีในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
ส่วนคณะทำงานเปลี่ยนผ่านด้านการทุจริตคอร์รัปชัน 8 พรรค ยังไม่ประชุมอย่างเป็นทางการ เนื่องจากผู้รับผิดชอบ ทั้ง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และ นายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยังติดภารกิจอื่น ขณะเดียวกันก็เตรียมพูดคุยกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย รวมถึงพรรคเพื่อไทยด้วย เพื่อกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันหลังการจัดตั้งรัฐบาล
0 พิธา ประกาศจัดซื้อ-จัดจ้าง 5 ล้านโครงการต้องโปร่งใส
นายพิธา ยืนยันอีกว่า พรรคก้าวไกลจะประสานหารือกับ ACT อีกครั้ง โดยการหารือครั้งหน้าจะนำคณะทำงานเปลี่ยนผ่านด้านทุจริตคอร์รัปชันมาร่วมหารือด้วย เพราะมีโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ของภาครัฐ มากกว่า 5 ล้าน โครงการ หากไม่มีความโปร่งใส และไม่มี AI เข้ามาเสริม ก็จะไม่สามารถตรวจสอบได้ อย่างมีประสิทธิภาพ หรือสามารถทำงานเชิงรุกได้
สำหรับนโยบายของพรรคก้าวไกลที่นำมาเสนอวันนี้ เป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการภายใน 100 วัน โดยเฉพาะการบริหารงานในภาครัฐที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ (AI) เข้ามาขับเคลื่อน รวมทั้งโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่จะอยู่ในระบบ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ หากมีเทคโนโลยีเหล่านี้ จะทำให้การทำงานเป็นไปในเชิงรุกมากขึ้น
นายวิเชียร กล่าวว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสินบนใต้โต๊ะ การส่งน้ำร้อนน้ำชา ไปจนถึงเรื่องใหญ่โครงการระดับชาติที่เป็นปัญหาเร่งด่วน แต่กระบวนการที่จะแก้ไขจัดการแบบประชาชนมีส่วนร่วม น่าจะเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะพรรคการเมืองต้องไม่ให้คนของตัวเองมาบั่นทอนความน่าเชื่อถือ ด้วยการสร้างปัญหาคอร์รัปชัน
0ผู้นำองค์กรต้านคอร์รัปชันรับเห็นความหวังรัฐบาลเอาจริง
หลังการหารือ 2 ชั่วโมงครึ่ง นายวิเชียร กล่าวว่า ดีใจที่มีพรรคการเมืองให้ความสนใจ และใส่ใจกับเรื่องของปัญหาทุจริตคอรัปชัน และเชื่อว่าคงจะจริงจังในการหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดย ACT ในฐานะที่เป็นองค์กรภาคประชาชน และมีเครือข่ายของสมาชิก อยากจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของการเมือง ซึ่งนโยบายสำคัญในหลายเรื่อง การศึกษา สิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาความยากจน การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น
จากการทำงานมา 10 กว่าปี เชื่อว่าไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหากไม่เร่งแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ได้เสนอว่ากระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม มีเครื่องมือการจัดการ การมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ ดังนั้นคงเห็นโอกาสที่จะร่วมมือกันต่อไปในอนาคต ซึ่งคาดหวังได้จากเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่น ที่นายพิธาได้พูดหลายเรื่องที่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน มีหลากหลาย รูปแบบ ต้องติดตามและร่วมมือกันต่อไป
0 "พิธา" ซัดกฎหมายข้อบังคับมาก เปิดช่องให้มีส่วย
.
ด้านนายพิธา กล่าวว่า สาระสำคัญคือความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มดัชนี ในการต่อต้านการคอรัปชันให้ดีขึ้นโดยเร็ว จากที่เคยอยู่ในอันดับ 80 ซึ่งมีแผนที่จะทำ อะไรบ้างใน 100 วัน 1 ปี และ 4 ปี เพื่อให้ภาคดัชนีของคอร์รัปชันดีขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของประเทศไทย ในการดึงดูดนักลงทุน ซึ่งในการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนสส. กำลังดูว่าสามารถแก้ไขกฎหมายข้อไหนในการต่อสู้กับคอร์รัปชันโดยนำเทคโนโลยีมาสู้กับการคอร์รัปชัน เพราะบางครั้งยิ่งมีกฎหมายข้อบังคับมาก ก็จะเปิดช่องให้มีส่วย และคอร์รัปชันเช่นกัน
ทั้งนี้แกนนำของพรรคก้าวไกล จะรวบรวมการทำงานในการต่อสู้คอร์รัปชันที่ได้รับโจทย์มาค่อนข้าง ชัดเจน 25 ข้อมูลของภาครัฐที่อยากให้เปิดแต่เข้าไม่ถึงในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา คราวนี้ขอให้เปิด เพื่อให้การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันดีขึ้น ก็จะไปดูว่าจะใช้อำนาจในการเปิดข้อมูลเหล่านี้ในส่วนไหนได้บ้าง
ส่วนมีโครงการไหนของรัฐบาลชุดที่แล้วที่จะนำมาตรวจสอบหรือเช็คบิลนั้น นายพิธา กล่าวว่า จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเห็นว่า น่าจะมีเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ปีละ 4-5 เรื่องหรือ ตลอด 4ปี กว่า 20 เรื่อง รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีส้มก็จะได้กลับไปตามเรื่องต่อ หลังจากที่ยื่นต่อป.ป.ช. ไปแล้ว ทั้งนี้การตรวจสอบ
จะเป็นการสร้างระบบที่ยุติธรรมทั้งกับรัฐบาลชุดก่อน และรัฐบาลของตน คงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องของการชำระแค้น พร้อมลดระบบการใช้ดุลยพินิจของรัฐและการผูกขาดเพื่อความโปร่งใส เปิดให้ติดตามการตรวจสอบ
.
0 เล็งแก้ไขกฎหมาย "องค์กรอิสระ "ต้องเป็นกลาง
.
เมื่อถามว่ามีแนวโน้ม ดำเนินการกับองค์กรอิสระ ที่ถูกมองว่าเป็นแดนสนธยา มีความโปร่งใสได้หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า หลายองค์กรในองค์กรอิสระไม่ได้อิสระจริง เพราะมาจากการแต่งตั้ง จึงเห็นว่ากรรมการในองค์กรอิสระควรจะมาจากการเลือกตั้ง และเรื่องนี้เป็น 1 ใน 300 นโยบาย ของรัฐบาลใหม่ที่จะต้องทำ
ย้ำว่าแนวคิดของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวหรือรายบุคคล แต่เป็นเรื่องของที่มาที่ไปและการใช้อำนาจ โดยคณะกรรมการจะต้องมีที่มาหลากหลาย มีคนนอก มี สส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพื่อให้มีความเป็นกลางมากที่สุด รับรองคนที่จะมาเป็นองค์กรอิสระ ซึ่งตรงนี้จะต้องแก้ไขกฎหมาย
สิ่งแรกที่พรรคก้าวไกลจะแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน คือ จะได้เห็นคือการเปิดเผยข้อมูลการประชุมรัฐสภา การพิจารณางบประมาณ ของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ จะเปิดเผยไลฟ์สดได้ ถ้าเป็นรัฐบาล สามารถเปิดให้สื่อเข้าร่วมประชุมเพื่อให้การประชุมอยู่ในร่องรอย โดยไม่ต้องใช้ต้นทุน ส่วนจะเปิดเผยงบลับของกระทรวงกลาโหมได้หรือไม่นั้น จะเปิดได้เท่าที่กฎหมายอนุญาต เพราะบางเรื่องอาจจะเป็นความลับของประเทศที่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ นอกจากนี้กฎหมายของประเทศไทยอาจจะไม่สอดคล้องกับสากล เพราะหลายเรื่องต้องขออนุญาตจึงจะเปิดเผยได้ จึงควรต้องมีการปรับปรุง นายพิธา ระบุ
.
ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมคณะเข้าพบวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT เพื่อแลกเปลี่ยนนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน
.
ภาพโดย NATIONPHOTO