ข่าว

'ชวลิต' เผยงานวิจัยคนชายแดนใต้เห็นด้วย 'น้อยที่สุด' ปกครองแบบอิสระ

'ชวลิต' เผยงานวิจัยคนชายแดนใต้เห็นด้วย 'น้อยที่สุด' ปกครองแบบอิสระ

11 มิ.ย. 2566

'ชวลิต' เผยงานวิจัย 'สถาบันพระปกเกล้า' พบคนชายแดนใต้เห็นด้วย 'น้อยที่สุด' ปกครองแบบอิสระ อยากเห็นปกครองแบบกระจายอำนาจ 'พรรคไทยสร้างไทย' เสนอเพิ่มความกระชับมิตรต่างประเทศเพื่อสันติภาพ

เป็นประเด็นกันอย่างมากหลังสัมมนาทางวิชาการที่ มอ.ปัตตานี มีการเสนอทำประชามติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน ล่าสุดนายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์ พรรคไทยสร้างไทย 1 ในคณะทำงานย่อยแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ เปิดผลวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า พบว่า ชาวบ้าน "เห็นด้วยน้อยที่สุด" กับการปกครองที่เป็นอิสระจากประเทศไทย 

 

นายชวลิต เห็นว่า การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทุกภาคส่วนควรอดทน ละเอียด รอบคอบต่อการแก้ไขปัญหา ระวังอย่าเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวส่งผลให้ปัญหาบานปลายเหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต จึงมีข้อสังเกตต่อแนวทางการแก้ไข 2 ประการ 


1. สถาบันพระปกเกล้า โดย พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า  เคยทำงานวิจัยแนวทางแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้ชื่องานวิจัยนั้นว่า  PEACE SURVEY ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ถึง 5 ครั้ง ในครั้งที่ 5 สำรวจความเห็นระหว่างเดือนกันยายน - ตุลาคม 2562


ความเห็นประชาชนถึง "รูปแบบการปกครองที่ต้องการ" พบว่า รูปแบบการปกครองที่เป็นอิสระจากประเทศไทย เป็นรูปแบบที่ประชาชนต้องการ "น้อยที่สุด"

ส่วนรูปแบบการปกครองที่ประชาชนต้องการมากที่สุด คือ รูปแบบการปกครองที่มีการกระจายอำนาจมากขึ้น ด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย (เอกสารงานวิจัย หน้าที่ 68)

 

ข้อสังเกตในประเด็นนี้ คือ ความคิดเห็นของประชาชนในการเป็นอิสระจากประเทศไทยนั้น "มี แต่น้อย" ดังนั้นถ้าไม่ปรับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา ปล่อยให้ปัญหาความไม่สงบ ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความยากจนและความอยุติธรรม เป็นปัญหาที่จมลึกอย่างต่อเนื่องยาวนานไปมากกว่านี้ ก็จะกระทบและสร้างความเสียหายต่อการพัฒนาประเทศโดยภาพรวมมากขึ้น ๆ

 

2. คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำการศึกษาเรื่อง แนวทางสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ เพื่อการพัฒนาสร้างสันติสุขและประชาธิปไตย ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่การพิจารณาไม่ถึง ระเบียบวาระหมดสมัยประชุมไปก่อน

 

บทสรุปของคณะกรรมาธิการฯต่อการแก้ไข คือ ปรับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา โดยใช้นโยบายเศรษฐกิจ การเมืองนำการทหาร และน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาปรับใช้อย่างจริงจัง

นายชวลิต วิชยสุทธิ์

นายชวลิต กล่าวต่อว่า ประการสำคัญเวลาของความขัดแย้ง ความไม่สงบยืดเยื้อยาวนานเกือบ 20 ปีติดต่อกัน สร้างความเสียหายต่อชีวิต จิตใจ ทรัพย์สิน ทั้งของประชาชนและทางราชการมากมาย ถึงเวลาที่จะให้ "อภัย" ต่อกัน โดยหลักศาสนาทั้งพุทธและมุสลิม นำคำสั่งสำนักนายกรัฐมนครี ที่ 66/2523 มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

 

พรรคไทยสร้างไทยได้นำงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าและรายงานของคณะกรรมาธิการดังกล่าวมาปรับใช้มีไทม์ไลน์ในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว โดยระยะยาวเป็นขั้นตอนการกระจายอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้าพรรค และ ดร.โภคิน พลกุล ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้ง 3 ขั้นตอนดังกล่าวและยังแนะนำให้เพิ่มมิติด้านการต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการประสานกับมิตรประเทศที่จะร่วมกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาค ซึ่งจนได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะทำงานย่อย ฯ ในการประชุมครั้งแรกที่พรรคก้าวไกล เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาแล้ว และจะติดตามในการประชุมครั้งที่สอง ในวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2566 ณ พรรคประชาชาติต่อไป