กรรมการ สว. ตรวจสอบเข้มโปรไฟล์ 'สมบัติ ธรธรรม' ว่าที่ ป.ป.ช. คนใหม่
'สมบัติ ธรธรรม' ผู้ได้รับการสรรหาเป็น กรรมการ ป.ป.ช. ต้องฝ่าด่านการพิจารณาคุณสมบัติเข้มข้นจากคณะ '15 สว.' ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรม ก่อนส่งให้ที่ประชุม วุฒิสภา ลงมติ ด้านคน ป.ป.ช. ร้องคุณสมบัติอาจไม่เหมาะ
ภายหลังคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ลงคะแนนเสียงเลือก สมบัติ ธรธรรม เป็นบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กรรมการ ป.ป.ช. แทนกรรมการที่พ้นวาระการดำรงตำแหน่ง ทาง 15 สว. จะทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มข้น ก่อนส่งชื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภา หรือ สว. ลงมติต่อไป
ทั้งนี้ นายสมบัติ ได้รับการสรรหาแทน พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. ที่พ้นวาระการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566 โดยขั้นตอน สมบัติ ธรธรรม จะต้องฝ่าด่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากคณะกรรมาธิการสามัญที่ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ทำหน้าที่ประธานกรรมการ
รองประธานกรรมการ ประกอบด้วย นายวิทยา ผิวผ่อง และนายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ โดยมีกรรมการรวมทั้งสิ้น 15 คน มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติจากข้อร้องเรียนต่างๆ อย่างละเอียดอีกครั้ง เมื่อแล้วเสร็จจะนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่วุฒิสภา เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อไป
สำหรับ สมบัติ ธรธรรม ประกอบอาชีพทนายความ และที่ปรึกษากฎหมายอิสระ ก่อนหน้านี้ได้รับคะแนนการสรรหา 5 คะแนน จากกรรมการสรรหา 6 คน ขณะที่ นายชัชชม อรรฆภิญญ์ อดีตรองอัยการสูงสุด ได้รับการโหวต 1 คะแนน ซึ่ง นายสมบัติ ได้คะแนนมากกว่า 3 ใน 4 ของคณะกรรมการสรรหาทั้งหมด จึงได้รับการสรรหารให้เป็นว่าที่กรรมการ ป.ป.ช. คนใหม่
ย้อนไปพิจารณาประวัติของ นายสมบัติ เคยเป็นที่ปรึกษา พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง อดีตกรรมการ ป.ป.ช. นอกจากนี้ ขณะเป็นกรรมการบริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ก่อนหน้านี้เคยถูกร้องเรียนกรณีจัดประกวดให้เช่าเนื้อที่โฆษณาบนรถเมล์ปรับอากาศ จำนวน 1,109 คัน และคดีขาดอายุความ ในเวลาต่อมา นายสมบัติ จึงได้ทำหนังสือขอพักการปฏิบัติหน้าที่จากการเป็นที่ปรึกษา แต่ในที่สุดก็สามารถเสนอตัวจนได้เป็นผู้ถูกเสนอชื่อ กรรมการ ป.ป.ช. และได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา
สำหรับขั้นการพิจารณาของวุฒิสภาจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม และขั้นการพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยการดําเนินการในขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบของวุฒิสภานี้เป็นเช่นเดียวกับกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า “แนวร่วมคนป.ป.ช.” ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงประธานคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่มี นายสมชาย แสวงการ เป็นประธาน โดยเนื้อหาในหนังสือร้องเรียนได้ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติกรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อว่า อาจไม่มีคุณสมบัติ และความเหมาะสมต่อการดำรงตำแหน่งหรือไม่