ข่าว

เปิด 3 พิรุธ งบการเงิน 'itv' ปมร้อน หุ้น itv ส่อ ส่งข้อมูลเท็จ?

เปิด 3 พิรุธ งบการเงิน 'itv' ปมร้อน หุ้น itv ส่อ ส่งข้อมูลเท็จ?

15 มิ.ย. 2566

ปมร้อน 'หุ้น itv' เปิด 3 พิรุธ งบการเงิน 'itv' ส่อ ส่งข้อมูลเท็จ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หมากเกมนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ไปต่อหรือไม่

ยังคงเป็นที่จับตา กับประเด็น “หุ้น itv” ที่ดูเหมือนจะเป็นตัวชี้ชะตาตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หลังจาก 3 นักร้อง เรียกร้องให้สอบปมถือหุ้นสื่อ ที่อาจทำให้พิธา ไม่ได้ไปต่อในตำแหน่งนายกฯ แต่เมื่อ “ข่าว 3 มิติ” เปิดคลิปการประชุมผู้ถือหุ้น ITV เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นการประชุมแบบออนไลน์ แต่เนื้อหาสำคัญของคลิปบันทึกการประชุม กับบันทึกการประชุม (minute) แบบลายลักษณ์อักษร กลับมีเนื้อหาแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้เกมอาจพลิก

 

 

 

 

การสืบสาวราวเรื่องปม “หุ้น itv” ยังคงไม่จบ เมื่อข่าว 3 มิติ มีการเปิดพิรุธงบการเงินไตรมาส 1/2566 ของ “itv” ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญ ที่จะประกอบการพิจารณาคดีการถือหุ้นสื่อของพิธา พบว่างบการเงินของรอบปีบัญชี 2565 มีการระบุว่า ประเภทธุรกิจเป็น สื่อ

 

ไอทีวี

เปิดพิรุธ งบการเงิน itv

 

 

จากเอกสารมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญการเงินว่า งบการเงินไตรมาส 1/2566 แตกต่างจากงบการเงินปี 2565 ที่ไม่มีการระบุว่า เป็นสื่อโฆษณา มีเพียงระบุรายได้ที่มาจากการลงทุน ซึ่งตรงกับงบการเงินของบริษัท ไอทีวี นับจากถูกยกเลิกสัมปทานปี 2550-2565 เวลา 15 ปี ก็ไม่มีรายได้จากสื่อโฆษณา ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงของผู้ถือหุ้น วันที่ 26 เม.ย. 2566 ที่ผู้บริหารบริษัท ไอทีวี ตอบว่า “ยังไม่ดำเนินการใดๆ”

 

งบการเงิน itv

 

แต่ในวันที่ 28 เม.ย. 2566 เพียง 2 วันหลังการประชุม กลับมีรายงานในงบการเงิน ว่าให้บริการลงสื่อโฆษณา และวันนำส่งบัญชีก็ตรงกับวันนำยื่นคำร้องคดีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 ด้วย

 

 

โดยงบการเงินระบุว่า มีรายได้ 6 ล้านบาท เป็นผลตอบแทนจากเงินลงทุน และมีระบุในหมายเหตประกอบงบการเงิน บอกว่า บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และจะเริ่มมีรายได้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 แต่งบการเงินปี 2565 ต่างกับปี 2566 เพราะของปี 2565 ในงบไม่ได้ระบุว่า มีรายได้จากการโฆษณา ระบุว่า เป็นกำไรจากการลงทุน แต่จู่ๆ งบปี 2566 ก็มีรายได้จากการโฆษณาขึ้นมา

 

งบการเงิน itv

นอกจากนั้น เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ช่วงปี 2565 ก็ไม่มีการระบุว่า ได้ประกอบกิจการสื่อ แต่มามีเอาตอนปี 2566 และเอกสารที่ถูกเอาไปร้องเรียนที่ กกต. ก็เป็นเอกสารของบริษัท หลังจากที่มีการอัปเดทข้อมูลดังกล่าวเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

 

 

 

ซึ่งทางข่าว 3 มิติ ก็ระบุว่า นี่คือประเด็นที่ ทาง itv ต้องชี้แจงว่า รายได้ก้อนนี้มาจากไหน (ก้อนที่ระบุว่ามาจากการเสนอลงสื่อให้กิจการที่เกี่ยวข้องกัน) โดยคนที่มีหน้าที่ต้องอธิบายข้อสงสัยนี้ ก็คือ อินทัช ที่เป็นผู้บริหาร itv ในปัจจุบันนั่นเอง

 

 

นอกเหนือไปกว่านั้นยังพบว่า ผู้บริหารระดับสูง ที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชีบริษัท ไอทีวี ลาออกไปไม่กี่วัน โดยไม่ทราบสาเหตุ

 

เอกสารงบการเงินไอทีวี

 

 

ทั้งนี้ ประเด็นในข่าว 3 มิติ จากการตรวจสอบ เป็นประเด็นที่ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงไว้ด้วยวันก่อน ในข้อที่สอง ซึ่งระบุว่า

 

 

"(2) ความขัดแย้งกันระหว่างคลิปการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2566 กับแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ที่ itv ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 และเอกสารงบไตรมาสแรกปี 2566 ของ itv

 

เอกสารงบการเงินไอทีวี

 

ข้อพิรุธอีกประการหนึ่ง หากพิจารณาใจความสำคัญของข้อความที่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขในบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นของ itv กล่าวคือ แก้ไขคำตอบของนายคิมห์ ทวีสิริชัย ประธานในที่ประชุม ต่อนายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน จาก “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ” กลายเป็น “ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” นั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ “แบบนำส่งงบการเงิน” (ส.บช.3) ที่ itv ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในวันที่ 10 พ.ค. 2566 ก่อนวันเลือกตั้ง 4 วัน และเป็นวันเดียวกับที่นายเรืองไกรไปยื่นร้องต่อ กกต. หรือไม่

 

งบการเงินไอทีวี

 

เพราะเมื่อพิจารณา “แบบนำส่งงบการเงิน” (ส.บช.3) ที่ itv ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 (ซึ่งเป็นงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565) จะพบว่า มีการระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” และระบุสินค้า/บริการว่า “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน”  จากเดิมที่เอกสารงบการเงิน (ส.บช.3) ของ itv ในปีบัญชี 2561-2562 ระบุประเภทธุรกิจว่า “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” แล้วในปีบัญชี 2563-2564 ระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า “ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ”

 

 

 

การเปลี่ยนแปลงข้อความในแบบนำส่งงบการเงินครั้งหลังสุดของ itv ดังกล่าว ขัดแย้งกับการตอบของนายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 26 เม.ย. 2566 ต่อข้อซักถามอีกข้อหนึ่งที่ว่า “หากคดีความต่างๆ จบสิ้นเรียบร้อย บริษัทจะมีปันผลไหม บริษัทจะมีแผนการดำเนินงานธุรกิจต่อไป หรือจะเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกหรือเปล่า บริษัทจะมีแผนชำระบัญชี หรือกิจการคืนเงินแก่ผู้ถือหุ้นหรือไม่”

 

 

 

ที่บอกว่าขัดแย้งกัน เพราะนายคิมห์ได้ตอบข้อซักถามดังกล่าวว่า “ผลของคดีเป็นจุดสำคัญที่สุดของบริษัท  ถ้าผลคดียังไม่ได้ออกมา มันเป็นไปได้ยากมากที่เราจะดำเนินการใดๆ กับ itv ณ ขณะนี้นะครับ อย่างในอดีตที่ผ่านมา เราก็ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาดู option ต่างๆ ทางเลือกต่างๆ ก็ยังไม่มีทางเลือกใดๆ ที่เหมาะสม ณ ขณะนี้ ฉะนั้น ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องรอผลของคดี ถ้าผลคดีสิ้นสุดลงแล้วทางบริษัทก็จะพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม ให้กับทางผู้ถือหุ้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพิจารณา จะจ่ายเงินปันผลอย่างไร จะดำเนินธุรกิจต่อไปหรือไม่อย่างไร หรือจะชำระบัญชี อะไรยังไง ทางเราจะพิจารณาทางเลือกที่มีอยู่ทั้งหมด และเลือกทางเลือกที่เหมาะสมให้กับผู้ถือหุ้นต่อไปนะครับ”

 

 

 

คำตอบของนายคิมห์ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น แสดงให้เห็นว่า ณ วันที่ 26 เม.ย. 2566 นายคิมห์ สิริทวีชัย ในฐานะประธานที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นและประธานกรรมการบริษัท มิได้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ไอทีวีประกอบกิจการ “สื่อโทรทัศน์” และมีรายได้จาก “สื่อโฆษณา” แต่อย่างใด แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรว่า แบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ที่ไอทีวีนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2565 ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 จะระบุว่า รายได้ของ itv ในรอบปี 2565 มาจากสื่อโทรทัศน์ โดยมีสินค้า/บริการ คือ “สื่อโฆษณา”  มิพักต้องกล่าวถึงกรณีที่นายคิมห์ได้ตอบผู้ถือหุ้นถึงแนวโน้มที่จะมีการชำระบัญชี ปิดบริษัทหลังจากทราบผลของคดีด้วยซ้ำ

 

 

 

จากข้อพิรุธนี้ ยังทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับรายงานงบแสดงฐานะการเงินไตรมาส 1/2566 ของไอทีวี ดูงบการเงินฉบับเต็ม คลิกที่นี่ เพราะในหมายเหตุประกอบงบการเงินงวด 3 เดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2566 หน้าสุดท้ายมีการระบุว่า "เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2566 บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ของปี 2566" 

 

 

คำถามคือว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ไอทีวีจะมีรายได้จากการเป็น “ผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา” ในช่วงไตรมาสที่ 2/2566 โดยวันประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 เม.ย. 2566 ซึ่งก็อยู่ในช่วงไตรมาส 2/2566 ที่เป็นช่วงเวลาที่มีการรายงานงบแสดงฐานะการเงินไตรมาส 1/2566 นายคิมห์กลับตอบคำถามว่าบริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ต้องรอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน

 

                    งบการเงินไอทีวี

 

และเป็นไปได้อย่างไรว่า หลังจากประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 เม.ย. แล้ว ซึ่งประธานในที่ประชุมได้บริษัทไม่ได้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับสื่อ แต่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินสำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2566 กลับไประบุว่า "ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้โฆษณาลงสื่อโฆษณา จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ของปี 2566"  ซึ่งข้อความดังกล่าวขัดแย้งต่อกับสิ่งที่นายคิมห์กล่าวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นอย่างชัดเจน  เพราะถ้าไอทีวีมีแผนธุรกิจดังกล่าวจริง นายคิมห์ย่อมต้องแจ้งในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. ถึงความเป็นไปได้ในการมีแผนธุรกิจใหม่แล้ว แต่ปรากฏว่าหลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นเพียง 2 วัน คือ วันที่ 28 เม.ย. 2566 คณะกรรมการบริษัทมีมติรับทราบ “แผนธุรกิจใหม่” ในช่วงไตรมาสที่ 2/2566 และบริษัทจะรับรู้รายได้ในไตรมาสเดียวกันทันที ซึ่งผิดวิสัยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น 2 วัน นายคิมห์ ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ยังไม่เคยรับทราบความเป็นไปได้ในการดำเนินกิจการใดๆ และยังให้ข้อมูลตอบผู้ถือหุ้นว่า จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เป็นไปได้ยากมากที่บริษัทจะดำเนินการใดๆ

 

 

 

ฉะนั้น เรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ในแง่พฤติการณ์ ข้อเท็จจริง และช่วงระยะเวลาการเสนอแผนธุรกิจ รวมถึงการรับรู้รายได้จากแผนธุรกิจใหม่ มีความไม่สอดคล้องกันและขัดแย้งกันเองเป็นอย่างยิ่ง การดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าว ให้แตกต่างจากการตอบข้อซักถามตามคลิปการประชุม จึงไม่น่าจะใช่ความผิดพลาดโดยบังเอิญ หรือเป็นการจัดทำเอกสารรายงานการประชุมตามแบบแผนปกติ หากแต่เมื่อวิญญูชนได้ทราบถึงพฤติการณ์ดังกล่าวแล้ว ย่อมเกิดข้อสงสัยได้ว่า เป็นการจงใจแก้ไขให้สอดรับกับบรรดาเอกสารต่าง ๆ ที่ตกแต่งจัดทำขึ้นในภายหลังหรือไม่"

 

สรุป 3 ข้อพิรุธเบื้องต้นที่พบ 

 

  1. แจ้งว่า เป็นผู้ให้บริการลงสื่อเพียง 2 วัน หลังประชุมผู้ถือหุ้น
  2. แจ้งมีรายได้จากการลงสื่อและส่งงบการเงินวันเดียวกับที่นักร้องไปยื่น กกต.
  3. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชี ลาออกโดยไม่ทราบสาเหตุ