สว.สมชาย จี้ 'กกต.' ตรวจสอบสถานะไอทีวี บี้คุณสมบัติ'พิธา'
แนะ 'กกต.' ตรวจสอบคำวินิจฉัย คณะอนุญาโตตุลาการกรณีพิพาท itv กับ สปน. สรุปสำนวน ส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณสมบัติ 'พิธา'
สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก เรียกร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เร่งตรวจสอบสถานะไอทีวี จากคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ กรณีพิพาทกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสรุปคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสถานะพิธา หลังกกต.รับรอง สส.ครบทั้ง 500 คนแล้ว
หลักฐานที่ สว. สมชาย แนะให้ กกต. เร่งตรวจสอบ คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเรื่องที่บริษัทitv จำกัด(มหาชน)ฟ้องร้องกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่14มค2559 ในข้อพิพาทที่46/2550 เป็นข้อพิพาทหมายเลขแดงที่1/2559 ระหว่างบริษัทกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่บริษัทขอเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายและขอให้บริษัทกลับเข้าดำเนินการสถานีโทรทัศน์ ระบบ ยูเอช เอฟ โดยใช้คลื่นความถี่และทรัพย์สินอุปกรณ์เครือข่ายเดิมต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาอนุญาตที่อนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า การบอกสัญญาอนุญาตของสำนักงานปลัดฯ นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเรื่องนี้ และคำพิพากษาศาลปกครอง จึงมีความสำคัญที่ต้องพิจารณาประกอบว่า itv ชนะคดีจากสำนักปลัดฯแล้ว และการขอให้เข้าดำเนินการในสถานีโทรทัศน์ ยูเอชเอฟเดิมนั้น เป็นการที่ทำให้บริษัทไอทีวีที่ยังมีการประกอบธุรกิจสื่อ มีวัตถุประสงค์สื่อชัดเจนและยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกกิจการได้รับชัยชนะในคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ itv กลับเข้าดำเนินการในสถานีโทรทัศน์ยูเอชเอฟ เดิมได้
จึงมีประเด็น1ในข้อพิจารณาว่า บริษัทitv น่าจะยังเป็นผู้การประกอบกิจการหรือเตรียมประกอบกิจการสื่อมวลชนที่ยังไม่ได้ยกเลิก ใช่หรือไม่
รัฐธรรมนูญ2560 มาตรา82วรรคท้ายระบุว่า ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง เห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
เมื่อ กกต. รับรองสมาชิกภาพของ สส.แล้ว มีเหตุผู้ร้องเรียนและกกต ตั้งคณะกรรมการไต่สวน จึงควรเร่งพิจารณาดำเนินการส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ว่า นายพิธามีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา98(3) ห้ามถือหุ้นสื่อมวลชนใดๆอันเป็นการขาดสมาชิกภาพสส. ตามมาตรา101(6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98หรือไม่ โดยยึดหลักเดียวกันกับการยื่นคดีนายธนาธรคือ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอคำวินิจฉัยด้วย
ส่วนเรื่องแคนดิเดทผู้สมัครนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 88 89 ที่ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา160 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา98 หรือไม่นั้น กกต ควรจะร้องไปศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการยื่นฟ้องเสียในคราวเดียวกัน