ย้อนที่มา 'บ้านหลวง' ทำไม บิ๊กตู่ อยากอยู่ต่อ
เมื่อ 'บิ๊กตู่' ขออยู่ต่อ ย้อนที่มา 'บ้านหลวง' ใน 'ร.1 รอ.' ขึ้นชื่อว่าเป็น รังของบูรพาพยัคฆ์ ทำไมถึงไม่อยากย้ายออก
“บ้านหลวง” กลายเป็นประเด็นเมื่อครั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใกล้จะหมดวาระ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี นอกจากต้องเก็บข้าวของออกจากทำเนียบรัฐบาลแล้ว ทางพรรคเพื่อไทย ก็ยังออกมาจี้ให้ย้ายออกจากบ้านพักรับรอง ในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หรือ ที่รู้จักในนาม ร.1 รอ. ซึ่งเป็นบ้านพักรับรอง ที่ พล.อ.ประยุทธ์ อาศัยอยู่มานานเกินกว่า 10 ปี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ยังยืนยันว่า จะขออยู่บ้านหลวงต่อ
ก่อนหน้านี้ “บ้านหลวง” เคยเป็นประเด็นมาแล้ว หลังมีการร้องเรียนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงหรือไม่ จากเหตุยังพักอาศัยในบ้านพักรับรองของกองทัพบก หลังจากเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2563 ด้วยมติเอกฉันท์ 9-0 เสียงว่า บิ๊กตู่ สามารถอยู่บ้านพักรับรองของกองทัพบกได้ ไม่ผิด คมชัดลึก ย้อนที่มาบ้านหลวง ทำไม บิ๊กตู่ ขออยู่ต่อ
ย้อนรอย “บ้านหลวง”
1. “บ้านหลวง” เป็นบ้านพักรับรอง ของกองทัพบก ที่อยู่ภายใน ร.1 รอ. จัดให้ข้าราชการประจำการสังกัดกองทัพบก ที่มีชั้นยศพล.อ., เป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กองทัพบก และเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้ว อยู่อาศัย โดยไม่ต้องเสียค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่ง “บิ๊กตู่” อยู่ในเงื่อนไขนั้น และอยู่มานานร่วม 10 ปี
2. จากเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ นั่นหมายความว่า นายกรัฐมนตรี ที่เป็น “พลเรือน” จึงไม่ได้สิทธินี้ อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้
3. บ้านหลวงเป็นประเด็น ในปี 2563 ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่พรรคเพื่อไทย จี้ถาม ทำไมยังอาศัยอยู่ในบ้านหลวง โดยไม่ต้องเสียค่าน้ำ ค่าไฟ ทั้งที่เกษียณอายุราชการ จากตำแหน่ง ผบ.ทบ. ตั้งแต่ปี 2557 พร้อมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170
4. แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัย เมื่อปี 2563 ด้วยมติเอกฉันท์ 9-0 เสียงว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถอยู่บ้านหลวงได้ ไม่ผิดแต่อย่างใด ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก ที่ระบุถึงผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกไว้อย่างชัดเจน
- ต้องเป็นข้าราชการประจำการสังกัดกองทัพบก ที่มีชั้นยศ พล.อ.
- เป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กองทัพบก
- เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้ว
5. นอกจากนั้น ยังชี้ว่า รัฐพึงจัดสรรที่พำนักให้ผู้นำประเทศ เพื่อ "สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม"
ที่มา “บ้านหลวง” รังของบูรพาพยัคฆ์
6. บ้านหลังนี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีการออกแบบเอง คุมงานเอง บนเนื้อที่เกือบ 2 ไร่ เป็นบ้านพักหลังใหญ่ ปลูกต้นไม้สูง เพื่อบังสายตาผู้คน และยังมีทหารรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
7. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “บ้านหลวง” แห่งนี้ ล้วนมีนักการเมือง เป็นอาคันตุกะ และเป็นที่ประชุมลับมาตลอดในช่วงวิกฤตเรื่อยมา โดยเฉพาะนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ระหว่างสู้ศึกกับคนเสื้อแดง ที่กลายเป็นแขกขาประจำ ไม่นับรวมนักการเมืองอีกหลายคน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ “บ้านหลวงบิ๊กตู่” กลายเป็นวอร์รูมปฏิบัติการลับ ตลอดเวลาที่ผ่านมา
8. ในหนังสือ ลับ ลวง พราง 5 ศึกชิงอำนาจ ผ่าแผนปฏิวัติเลือด ตีพิมพ์เมื่อเดือน เม.ย. 2555 ของ วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหาร ระบุว่า “ร.1 รอ.” ถือเป็นจุดศูนย์ดุลสำคัญของฝ่ายกองทัพ เพราะเป็นที่พักของ 3 ป. “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิต วงษ์สุวรรณ และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “รังของบูรพาพยัคฆ์”
เมื่อพ้นตำแหน่งนายกฯ ขออยู่บ้านหลวงต่อ
9. ปี 2566 ”วันนี้ผมอยู่เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย บ้านผมก็มี แต่มันไม่ปลอดภัย” เป็นประโยคที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าว เมื่อถูกถามถึงการอยู่ต่อในบ้านหลวง โดยยืนยันว่า เป็นเรื่องของกติกาเดิม ถ้าวันหน้าจะแก้ไขก็ต้องไปแก้กฎกระทรวง มันเป็นระเบียบของกองทัพบกอยู่แล้ว ดังนั้น การที่จะดูแลผู้บังคับบัญชามันเป็นกติกาเดิม แต่ถ้าอยากเปลี่ยนก็เปลี่ยนไป ผมก็พร้อมออก
10. สรุปง่ายๆ ก็คือ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ก็ยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านหลวง ใน “ร.1 รอ.” ได้ตามระเบียบของกองทัพบก ไม่ผิดกฎหมายอะไร เพราะไม่มีระเบียบข้อไหน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากบ้านพักได้ ยกเว้นจะออกจากบ้านหลวงด้วยตัวเอง
11. กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกมองว่า ไม่ต่างกับกรณีที่เคยให้สิทธิกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในการอยู่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ มานานกว่า 40 ปี