เปิด'ขั้นตอนเลือกประธานสภา' ลุ้นเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ
'ประธานสภา'จะเป็นใคร ลุ้นกันวันที่ 4 ก.ค.นี้ เปิด'ขั้นตอนเลือกประธานสภา' หากตกลงกันไม่ได้ มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน
ขั้นตอนเลือกประธานสภา กำลังถูกจับตาในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งถูกกำหนดไว้ในวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 09.30 น.มีวาระที่สำคัญ คือการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
ตามข้อบังคับการประชุมสภา พ.ศ. 2562 ข้อที่ 6 ขั้นตอนเลือกประธานสภา มีใจความสำคัญ คือ หากมีการเสนอชื่อประธานสภาในที่ประชุมเพียงคนเดียว ก็ไม่ต้องมีการลงคะแนน แต่หาก มีการเสนอชื่อมากกว่า 1 คน ต้องมีการลงคะแนนลับ เพื่อเลือกประธานสภา โดยใช้เสียงข้างมาก
หมายความว่า การเสนอชื่อประธานสภา สามารถทำได้โดย สส.เสนอชื่อและมีผู้รับรองเพียง 20 คน หากผู้ถูกเสนอชื่อไม่ปฏิเสธ หรือไม่ถอนตัว ก็ต้องมีการลงคะแนนลับเพื่อเลือก
ส่วนใครจะได้รับเลือก ตามขั้นตอนเลือกประธานสภา ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก เพราะข้อบังคับการประชุม ไม่ได้กำหนดเกณฑ์ คะแนนขั้นต่ำเอาไว้ คุณสมบัติที่สำคัญของประธานสภาคือต้องเป็นกลางระหว่างทำหน้าที่
เช่นเดียวกับรองประธานสภา อีกสองคน ที่ต้องเลือกตามข้อบังคับการประชุมในคราวเดียวกัน
พรรคก้าวไกลเปิดชื่อแคนดิเดตประธานสภา คือ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ในวัยยังไม่ถึง 40 ปี และยังมีแคนดิเดตอีกคน ที่สังกัดพรรคเพื่อไทย และมีเพื่อนฝูงมากมายในสภา อย่าง สุชาติ ตันเจริญ ซึ่งยังเก็บตัวเงียบไม่แสดงท่าที ตอบรับหรือปฏิเสธ เป็นตัวเต็งอีกคน
จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นอีกรายชื่อ ที่ถูกระบุว่ามีคุณสมบัติสามารถทำหน้าที่ประธานสภาได้ ทวิตไว้ว่าถ้ามีข้อมูลมากขึ้น จะคุยเรื่องการเมือง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลความคืบหน้าเรื่องประธานสภา มีแต่ข่าวจากสื่อที่อ้างแหล่งข่าวระดับสูง แต่ผู้นำระดับสูงยังไม่มีใครบอกอะไรที่ชัดเจน
ได้แต่หวังว่าเรื่องประธานสภาจะลงเอยด้วยดี ไม่มีการแข่งกันเองระหว่าง2 พรรคหลักเพราะถ้าแข่งกันเองก็จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลสะดุดได้ ยิ่งถ้าแข่งกันเองโดยมีอีกฟากหนึ่งเข้ามาผสมโรงด้วยก็จะกลายเป็นโรคแทรกซ้อน