ข่าว

เปิดประวัติ ‘วันนอร์’ วัย 79 ปี ตัวเต็งนั่ง ‘ประธานสภา’ ?

เปิดประวัติ ‘วันนอร์’ วัย 79 ปี ตัวเต็งนั่ง ‘ประธานสภา’ ?

03 ก.ค. 2566

เส้นทางการเมืองฝ่าฟันอุปสรรค มานับครั้งไม่ถ้วน มาทำความรู้จัก ‘วันนอร์’ วัย 79 ปี ตัวเต็งนั่ง ‘ประธานสภา’ จากครูใหญ่ก้าวสู่ผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติฯ เป็นนักการเมืองรุ่นเก๋า ที่มากความสามารถ เขาเป็นใคร ทำไมนักการเมืองทั่วทิศถึงต้องยอมสยบ

"เรารอมา 9 ปี  จะรออีก 40 กว่าชั่วโมง  ก็ต้องรอให้พรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล  สรุปให้ได้ ไม่เช่นนั้น ประชาชนจะไม่ให้อภัย เวลาไม่ใช่เงื่อนไข แต่หัวใจประชาธิปไตยสำคัญที่สุด" 

 

ถ้อยแถลงจากปาก 'วันมูหะมัดนอร์ มะทา' หัวหน้าพรรคประชาชาติ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ก.ค. 2566 หลัง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลไร้ข้อยุติปมตำแหน่ง ‘ประธานสภาผู้แทนราษฏร’ ทำให้กระแสความร้อนแรงทางการเมืองลดลง และดึงสติพวกคลั่งประชาธิปไคยกลับเข้าสู่โลกความจริงอีกครั้ง

 

เพียงชั่วข้ามคืน ชื่อของ ‘วันนอร์’ ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุด จนกระทั่งติดเทรนทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง ส่วนมากหนุนมากกว่าต่อต้าน ท่ามกลางการเงียบสงบของบรรดา ‘ด้อมส้ม’

 

จบแล้ว ปม ‘ประธานสภา’ เมื่อพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล มีมติหนุน ‘วันนอร์’ เป็นตัวเต็งนั่งในตำแหน่ง ประธานสภาฯ ที่จะมีการโหวตเลือกผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันที่ 4 ก.ค.2566 นี้

 

‘คมชัดลึก’ ชวนคุณผู้อ่านรู้จักว่าที่ประธานสภา คนใหม่ ให้มากขึ้น ‘วันนอร์’ คนนี้เขาเป็นใคร ทำไมนักการเมืองต้องยอมสยบ

วันนอร์ และแกนนำพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล

 

เปิดประวัติ ‘วันนอร์’

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เกิดเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2487 ปัจจุบันอายุ 79 ปี เกิดที่ จ.ยะลา จบมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง อ.เมือง จ.ยะลา และจบมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกวิทยาศาสตร์ จากโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนของกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2512 ต่อมาสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโท ครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2517

 

วัย 20 ปี ‘วันนอร์’ เริ่มอาชีพครู

วันมูหะมัดนอร์ มะทา เริ่มรับราชการครูและได้รับตำแหน่งเป็น 'ครูใหญ่' โรงเรียนอัตตรกียะห์ อิสลามมียะห์ จ.นราธิวาส ตั้งแต่อายุเพียง 20 ปี ต่อมาในปี 2512 ได้ย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยครูสงขลา หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ปี2518 เป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทักษิณ) และเป็นอาจารย์พิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พร้อมกันด้วย จากนั้นในปี2521 ได้รับตำแหน่งรองอธิการบดี วิทยาลัยครูสงขลา

วันนอร์

 

เริ่มงานการเมือง สังกัด 'พรรคกิจสังคม'

กระทั่งได้มาทำงานการเมืองสังกัด พรรคกิจสังคม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและแกนนำ กลุ่มวาดะห์ ไปเข้าสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ และต่อมาย้ายไปร่วมก่อตั้งพรรคประชาชน และ พรรคความหวังใหม่ โดยมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค และเป็นผู้นำกลุ่มวาดะห์ แทนนายเด่น โต๊ะมีนา ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคในเวลาต่อมา ก่อนจะย้ายไปเข้าสังกัด พรรคไทยรักไทย จากการยุบรวมพรรคความหวังใหม่เข้ากับพรรคไทยรักไทย เมื่อเดือนมกราคม 2545 และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้รับตำแหน่งเป็น รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

 

'วันนอร์' ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี 

ชีวิตพลิกผัน เมื่อ ‘วันนอร์’ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมืองปี2549 แต่ยังคงมีบทบาทให้คำแนะนำ สส.กลุ่มวาดะห์ ซึ่งย้ายจาก พรรคไทยรักไทย ไปสังกัดพรรคประชาราช ระยะหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปสังกัด พรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อเดือนตุลาคมปี2550 และย้ายไปสังกัด พรรคพลังประชาชน กระทั่งในปี2555 หลังจากพ้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง นายวันมูหะหมัดนอร์ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

 

‘วันนอร์’ บนเส้นทางทำงานการเมือง

  • ปี2522 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา สมัยแรก ในสังกัดพรรคกิจสังคม
  • ปี2523 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  • ปี2524 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
  • ปี2529 ร่วมกับ นายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้ง “กลุ่มเอกภาพ”(กลุ่มวาดะห์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 2 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
  • ปี2531 นำกลุ่มวาดะห์ ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับ “กลุ่ม 10 มกรา” ร่วมกันจัดตั้งพรรคประชาชนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 3 ในสังกัดพรรคประชาชน
  • ปี2532 นำพรรคประชาชนยุบรวมกับ พรรคก้าวหน้า พรรคกิจประชาคม และพรรครวมไทย เป็นพรรคเอกภาพ
  • ปี2533 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ)กรรมการในคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.
  • ปี2535 นำกลุ่มวาดะห์ เข้าร่วมก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ กับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 4 (จากการเลือกตั้ง 2535/1)สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 5 (จากการเลือกตั้ง 2535/2)รองประธานสภาผู้แทนราษฎร
  • ปี2537 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (กำกับดูแล กรมที่ดิน การเคหะแห่งชาติ การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค )
  • ปี2538 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 6
  • ปี2538-2539 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  • ปี2539 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 7 ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานรัฐสภา (24 พฤศจิกายน 2539 - 27 มิถุนายน 2543)
  • ปี2544 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 8 และรับพระราชทานยศ นายกองเอกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (สมัยที่ 2)
  • 3 ต.ค. 2545 รมว.มหาดไทย
  • 28 ธ.ค. 2545 รับพระราชทานยศ นายกองใหญ่
  • 10 มี.ค. 2547 รองนายกรัฐมนตรี 
  • 6 ต.ค. 2547 รมว.เกษตรและสหกรณ์ 
  • ปี2548 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 9

 

ไม่เพียงเท่านั้น ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ปี 2557 ‘วันนอร์’ ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 13

 

ต่อมาเลือกตั้งปี 2562 ‘วันนอร์’ เข้าร่วมกับพรรคประชาชาติ และได้เป็นบุคคลที่พรรคประชาชาติจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 10 (แบบบัญชีรายชื่อ) ก่อนจะลาออกจาก สส.เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2563 แต่ยังเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ

 

‘วันนอร์’อดีตประธานสภาฯ ปี39

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธย โปรดเกล้าแต่งตั้ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็น ประธานสภาผู้แทนราษฎร 

 

ในครั้งนี้ ‘วันนอร์’ มองรัฐสภาเป็นสถาบันหลักในการปกครองระบอบประชาธิปไตย จะมั่นคงหรือไม่ขึ้นอยู่กับความศรัทธาของประชาชน เท่าที่ผ่านมาความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อรัฐสภานั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าพอใจ อาจเป็นเพราะประชาชนยังไม่เข้าใจบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง คิดว่าเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วทุกอย่างก็จบ ไม่ค่อยมองเห็นบทบาทที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเข้ามาทำงานในสภา

 

ดังนั้น รัฐสภาจึงต้องมีบทบาทมากขึ้น ส่งเสริมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้แสดงบทบาทตามที่ประชาชนคาดหมาย การประชุมสภาจะต้องกระชับและมีสาระมากกว่าเดิม

 

ว่ากันว่า การประชุมสภา ยุค ‘วันนอร์’ นั่งเป็นประธานสภา ไม่มีสส.คนไหนกล้าแตกแถวด้วยความเป็นคนเด็ดขาด มีเหตุผล ปรากฏว่า มีเหตุการณ์อยู่ครั้งหนึ่ง ประธานสภาฯ ได้กล่าวเตือนสส.ห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้ามาส่งเสียงรบกวนห้องประชุม หากไม่เชื่อจะให้เจ้าหน้าที่สภาริบทันที ปรากฏว่าไม่มีสส.คนไหนกล้าฝืนคำสั่งประธานสภา อีกเลย 

พิธา และ นพ.ชลน่าน

 

มติ 2 พรรคใหญ่ หนุน ‘วันนอร์’ ประธานสภา

ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์  ถนนเพชรบุรี เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 19.47 น.ของวันที่ 3 ก.ค. 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมแกนนำพรรค และนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมแกนนำพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงมติ 2 พรรคใหญ่ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” เสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา  หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาฯ เพื่อเป็นตัวกลางยุติปัญหาปมประธานสภาหลังยืดเยื้อมานาน 

แกนนำพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล

 

ในมุมนักวิชาการมอง หากพรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอ ‘วันนอร์’ เป็นประธานสภาตั้งแต่แรก มันจะดีงามกว่านี้ ด้วยที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยถูกมองว่ามี ดีลลับ แต่พอเสนอชื่อ ‘วันนอร์’ ทำให้ภาพของพรรคเพื่อไทยดูดีขึ้นมาก หากพรรคก้าวไกลปฏิเสธก็จะถูกมองว่าฝั่งก้าวไกลเสียเองที่ดูมากเรื่อง

 

 

...กมลทิพย์ ใบเงิน... เรียบเรียง

ขอบคุณที่มาข้อมูล:วีกิพีเดีย,สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร