ภูมิธรรม อาสาขอเสียง สว. ร่วมโหวต ‘พิธา’ นายกรัฐมนตรี
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย 'ภูมิธรรม' ย้ำจุดยืนเพื่อไทยผลักดัน ก้าวไกล เป็นแกนตั้งรัฐบาล มี ‘พิธา’ เป็นนายกฯ พร้อมช่วยขอเสียงสนับสนุนจาก สว.ทุกช่องทาง - แนะนำก้าวไกลพูดคุยทำความเข้าใจนโยบาย ม.112 กับสภาสูง-รัฐบาลเก่า
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมของ สส.พรรคเพื่อไทย สำหรับการประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ว่า พรรคเพื่อไทย มีการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทิศทางในการลงมติ ตั้งแต่การเลือกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นไปตามความมุ่งหวังของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
พร้อมยืนยันว่า พรรคเพื่อไทย มีจุดมุ่งหมายในการจับมือกัน ระหว่าง 8 พรรคร่วมฯ จัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ดังนั้น เสียงของพรรคเพื่อไทย ก็จะเป็นไปตามที่ตกลงไว้ตั้งแต่ต้น
ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าก่อนจะมีการลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี อาจจะมีการสัมมนา สส. เพื่อเตรียมการทำงานของ สส.ในสภา เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำความเข้าใจระหว่ากัน และพรรคเพื่อไทย ยังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน เพื่อแก้ไขจุดอ่อนต่าง ๆ เพื่อเดินหน้า จึงอาจมีการปรับองค์กร หรือปรับขบวนใหม่ ซึ่งส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับสภา ก็อาจจะมีการพูดคุยร่วมกัน เพื่อให้ สส.ทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น
ส่วนจะหารือ 8 พรรคร่วมรัฐบาลก่อนโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพรรคแกนนำ แต่เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้มีการประสานงานไปเบื้องต้นกับพรรคก้าวไกล ก่อนการประชุมรัฐสภาแล้วว่า ควรจะต้องประเมินสถานการร์ร่วมกันก่อนที่จะมีการลงมติว่า มีสิ่งใดที่จะต้องปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลง ให้เป็นไปในลักษณะทิศทางร่วมกันหรือไม่ หรือหากพรรคก้าวไกลประเมินแล้วว่า ไม่มีความกังวลใด ๆ ที่จะต้องประชุมร่วมกันแล้ว ก็อาจจะไม่ประชุมก็ได้
“แต่ในความเห็นส่วนตัวนั้น เห็นว่า ควรจะมีการสักครั้ง เพื่อสรุปปัญหา และทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และชี้แจงให้ สส.ของพรรคเข้าใจ และเดินต่อไปในทิศทางร่วมกัน”นายภูมิธรรม ระบุ
ส่วนความหมายภายในข้อตกลงระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ที่จะต้องสนับสนุนให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างสุดความสามารถ นั้น เป็นข้อตกลงร่วมกันในการตัดสินใจให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งความหมายดังกล่าวในข้อตกลง คือ การแสดงเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นในการจับมือกันอย่างมั่นคง และ 8 พรรคร่วมฯ ก็จะแสดงความมั่นคงให้ประชาชนมั่นใจ ในการผลักดันให้เกิดรัฐบาลประชาธิปไตย ที่มีพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนจะไปได้อย่างไรต่อไปนั้น จะต้องให้พรรคก้าวไกล เป็นผู้ประเมินตามสถานการณ์ และหากจะมีประเด็นต่าง ๆ เกิดขึ้น ก็จะต้องนำเข้าหารือในที่ประชุม 8 พรรคร่วมฯ
“ยืนยันว่า ความชัดเจนของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลขณะนี้ คือ การผลักดันนายพิธา ให้ประสบความสำเร็จ และยังไม่อยากพิจารณาถึงเหตุการณ์สมมติอื่น ๆ เพราะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็แสดงความมั่นใจแล้วว่า ได้มีการพูดคุยกับ สว.แล้ว พรรคเพื่อไทย จึงเชื่อมั่นในสิ่งที่พรรคก้าวไกลได้ดำเนินการ พรรคเพื่อไทย ไม่มีความคลางแคลงใจในเรื่องดังกล่าว และพร้อมผลักดันนายพิธาเต็มที่”นายภูมิธรรมระบุ
อีกทั้งเชื่อว่า สถานการณ์ต่าง ๆ จะผ่านไปด้วยดี เพราะหลาย ๆ ปัจจัยอย่างเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ก็ไม่สามารถรวมกันได้ 188 เสียงในขั้นต้น ซึ่ง 71 เสียงของพรรคภูมิใจไทย ก็สะท้อนว่า ไม่พร้อมจะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และอยากให้เสียงของประชาชนเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งการลงมติงดออกเสียงในการลงมติเพื่อเลือกนายประดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ได้เป็นการปฏิเสธไม่เห็นชอบกับพรรคก้าวไกล แต่จะได้เสียงมาสนับสนุนหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับคำตอบของพรรคภูมิใจไทย และขึ้นอยู่กับพรรคก้าวไกล ว่าจะตัดสินใจใช้ทางเลือกเพื่อสู้เป้าหมายอย่างไร รวมถึงการขอเสียงสนับสนุนจาก สว.ให้ครบ 64 เสียง หรืออาจขอให้พรรคร่วมรัฐบาลเดิม สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่ได้เข้าร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย หรือวิธีการอื่น ๆ ที่พรรคก้าวไกลจะตัดสินใจ
“การเจรจากับวุฒิสภา เพื่อขอเสียงสนับสนุนให้กับนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นภารกิจของ 8 พรรคร่วมฯ ที่จะต้องดำเนินการร่วมกัน แต่พรรคแกนนำ ก็อาจจะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก และย้ำว่า พรรคเพื่อไทย พร้อมสนับสนุนเต็มที่ทุกช่องทาง เช่น สว.คนนี้ สนิทสนมกับ สส.ของพรรคจังหวัดใด ก็จะสามารถช่วยประสานพูดคุย ทำความเข้าใจร่วมกันได้”นายภูมิธรรม ระบุ
ทั้งนี้ หากนโยบายแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกล อาจจะเป็นเงื่อนไขทำให้ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. และพรรคร่วมรัฐบาลเดิมนั้นสำหรับพรรคเพื่อไทย มองว่า หากมีเรื่องใด ที่เป็นปัญหา เป็นความแตกต่าง ก็ควรจะมีการหารือกันให้ทั่วถึง และหลีกเลี่ยงความเห็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในอนาคต ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุด ควรมีการเปิดเวทีพูดคุยกันให้กว้างขวาง หรือใช้กระบวนการรัฐบาล หรือองค์กรอื่น ๆ เพื่อหาช่องทางให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ และแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด