ข่าว

'นายกคนที่30'ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ 'MOU' พรรคร่วมรัฐบาล

'นายกคนที่30'ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ 'MOU' พรรคร่วมรัฐบาล

07 ก.ค. 2566

ใครจะเป็น'นายกคนที่30' เงื่อนไข ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ 'MOU' 8 พรรคร่วม แต่อยู่ที่ว่าใครจะรวมเสียงได้ โดยไม่ต้องอาศัย สว. มากนัก

ใครจะเป็นนายกคนที่ 30 ของประเทศไทย  เป็นคำถามที่คาดการได้แต่อาจไม่ใช่คำตอบ แม้พรรคก้าวไกลจะชนะเลือกตั้ง แต่ยังไม่ใช่หลักประกันว่า พิธา จะได้เป็นนายกฯ  เพราะในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 กำหนดให้ต้องเลือกในที่ประชุมรัฐสภา ที่มีสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. เป็นไม้เบื่อไม่เมากับพรรคก้าวไกลรวมอยู่ด้วย หลักเกณฑ์ที่ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา  จึงกลายมาเป็นเงื่อนไข เพราะก้าวไกลรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่พอ  บรรดาสว.จึงมีแต้มต่อทางการเมือง

การเลือกนายกคนที่30 ครั้งแรก ถูกกำหนดไว้ในวันที่ 13 ก.ค. 2566  ว่ากันว่า รอบนี้จะเป็นการเลือกตาม MOU นั่นคือมีการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพียงลำพังจากฝั่งประชาธิปไตย ส่วนพรรคนอก MOU  พรรคใดจะเสนอเข้าชิง  ก็ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม  รอบนี้ หาก พิธา ฝ่าด่านไม่ได้ ก็ต้องหารือกันใหม่ แต่จะสามารถส่งชื่อ พิธา ให้ที่ประชุมเลือกได้อีกครั้งหรือไม่

 

ขึ้นอยู่กับว่าที่ประชุมรัฐสภา จะเห็นด้วยกับข้อเสนอของสมาชิกวุฒิสภา ที่ให้ยึดหลักการในการให้ความเป็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ มาใช้ในการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หากที่ประชุมอนุญาตให้นำมาใช้ ก็หมายความว่าโอกาสของ พิธา ไม่มีแล้ว

 

หากการเลือกนายกฯครั้งที่สอง ถูกกำหนดไว้วันที่ 19 ก.ค.  สมมติว่า พิธาไม่ผ่านในรอบแรกและมติที่ประชุมรัฐสภา เห็นว่าไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำเป็นครั้งที่สองได้ พรรคเพื่อไทยก็จะมีความความชอบธรรมที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะพรรคอันดับ 2  โดยความเห็นชอบร่วมกัน ของพรรคร่วม MOU จัดตั้งรัฐบาลฝั่งประชาธิปไตย  

 

โดยพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ยังอยู่ในเงื่อนไขล่มหัวจมท้ายไปด้วยกัน แต่มีโอกาสที่ได้เสียงเกินครึ่งของรัฐสภาเพราะเพื่อไทยมีพรรคพวกในสภาฯมากกว่าพรรคก้าวไกล และอยู่ในเงื่อนไขต้องไม่แก้ไข ม.112  เพื่อไทยอาจได้เสียงสนับสนุนจาก สส.มากพอ โดยไม่ต้องง้อวุฒิสภา เว้นเสียแต่ว่า สส.จากพรรคการเมืองที่จะเติมเข้ามารังเกียจพรรคก้าวไกล ก็อาจจำเป็นต้องมีการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่ สุดทาง MOU กับก้าวไกลแล้ว

 

หากการเลือกนายกคนที่30 ครั้งที่ 3 ถูกกำหนดไว้วันที่ 20 ก.ค. 2566  เพื่อไทยยังเหลือแคนดิเดตนายกฯ อีกสองคน มีสส.มากกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับพรรคอันดับสามอย่างภูมิใจ มากกว่าพลังประชารัฐ100 เสียง เพียงพอจะจับขั้วรัฐบาลใหม่ หากก้าวไกลฉีก MOU แยกตัวออกไป ไม่น่าจะมีปัญหารวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย แต่กลับสอดรับเงื่อนไข ไม่เอาพรรคก้าวไกลของ สว.  เว้นเสียแต่ว่าจะมีคำสั่งวุฒิสภา ให้เลือกลุง