ข่าว

'โหวตนายกฯ' 13 ก.ค. ห่วง 'สว.' ขวาง 'พิธา' เข้าทำเนียบ

'โหวตนายกฯ' 13 ก.ค. ห่วง 'สว.' ขวาง 'พิธา' เข้าทำเนียบ

11 ก.ค. 2566

คาดการได้ไม่ยาก หาก 'พิธา' แห้วจากการ'โหวตนายกฯ' โดยกลุ่ม 'สว.' เชื่อว่าจะมีการชุมนุมในหัวเมืองที่มีมหาวิทยาลัย เพราะไม่พอใจจำนวนมาก

อานนท์ นำภา ทนายจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนฯมองว่าสถานการณ์การเมือง หลากหลายและคนมีช่องทางในการแสดงออกมากขึ้น สมัยก่อนถ้าเลือกตั้งเสร็จก็เสร็จเลย นักการเมืองจะไปทำอะไรก็ได้ แต่ตอนนี้ประชาชน เฝ้าจับตามองโดยเฉพาะการโหวตนายกฯ ที่มีสว.เป็นตัวแปรในการเลือก พิธา

การชุมนุมโหวตนายกฯวันที่ 13 ก.ค.2566 ไม่คิดว่าจะมีอะไรรุนแรง คนอาจจะคิดว่าไปกดดันให้สว.เลือก พิธา  แต่เขาไปเพื่อสนับสนุน ส่งเสียงเชียร์มากกว่า ดูจากรูปแบบเป็นม็อบออร์แกนนิค ไม่มีการจัดตั้งเวทีอะไรใหญ่โต  และมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ

 

รัฐเปลี่ยนจากเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตย ท่าทีต่อผู้ชุมนุมก็เปลี่ยนไป มีการจัดเตรียมสถานที่ อำนวยความสะดวก ไม่ใช่เอาลวดหนามมาขวางยั่วยุ

 

แต่ถ้าผลการลงคะแนนโหวตนายกฯวันนั้น พิธาถูกสว.ขวางไม่ได้เป็นนายกฯนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ไม่ต้องให้ฝ่ายความมั่นคงมาประเมิน แน่นอนว่าคนจะไม่พอใจ แต่ต้องมาดูว่าในแง่ปริมาณความไม่พอใจมันมากน้อยแค่ไหน

 

ดูจากผลการเลือกตั้งและการเดินสายขอบคุณ ประชาชนของพิธาและพรรคก้าวไกล ก็คาดการได้ว่า ถ้าไม่ได้ขึ้นมา คนจะโกรธแค้นขนาดไหน เดาว่าจังหวัดใหญ่ๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัย มีการชุมนุมแน่นอน เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น

 

ทนายอานนท์ บอกอีกว่า หากเป็นระบอบรัฐสภาปกติ  การรวมเสียงข้างมากได้เกินครึ่งของสภาขนาดนี้ ไม่จำเป็นต้องโหวตนายกฯ พิธาสามารถจัดตั้งรัฐบาลเดินหน้าได้แล้ว แต่ด้วยกติกาที่บิดเบี้ยว เอาสว.มาเกี่ยวกับเลือกนายกรัฐมนตรีทำให้มีปัญหา

 

กติกา คือเสียงข้างมาก มารยาทคือให้พรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลก่อน  ยิ่งดูคะแนนเลือกตั้งกว่า 70 % เป็นฝ่ายประชาธิปไตย เมื่อระบบ ระบอบ มีปัญหา ประชาชนก็มีสิทธิ เสรีภาพที่จะออกไปส่งเสียง ได้รับการรับรองโดยกฎหมายระหว่างประเทศ และถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 

 

ถ้าเป็นการชุมนุมที่สงบ เห็นต่างก็ออกมาแสดงความเห็นได้ แต่ต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดการปะทะกัน เพราะมือที่สามที่ต้องการอยู่ในอำนาจต่อ รออยู่