ข่าว

เดือด 'ชัยธวัช' ข้องใจ ลุกถามกลางสภาฯ ประชาชนอยู่ตรงไหน ในระบอบประชาธิปไตย

เดือด 'ชัยธวัช' ข้องใจ ลุกถามกลางสภาฯ ประชาชนอยู่ตรงไหน ในระบอบประชาธิปไตย

13 ก.ค. 2566

อภิปราย ‘โหวตนายกรัฐมนตรี’ เดือด ‘ชัยธวัช’ ลุกถามกลางสภาฯ "ประชาชนอยู่ตรงไหนในระบอบประชาธิปไตย" ชี้เลือกตั้ง 2 เดือน ‘พิธา’ รวบรวม 312 เสียง แต่ยังไม่ได้นายกฯ ย้ำ สถาบันต้องอยู่เหนือการเมือง ขออย่าดึงมาปะทะกับผลเลือกตั้ง

ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมสมชิกรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 วาระโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังมีการเสนอ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฏร ได้เปิดสมชิก สส. และสว. อภิปรายคุณสมบัติว่าที่นายกคนที่ 30 

 

โดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายย้ำว่าต้องลงมติให้นายพิธาเป็นนายกฯ คนต่อไปแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยปกติของรัฐสภา

 

เมื่อประชาชนทั้งประเทศได้ใช้วิจารณญาณของตัวเอง พิจารณาลงมติหนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่าเทียมกันผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566  และผลปรากฏว่า พรรคก้าวไกล ซึ่งเสนอนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมได้เสียงข้างมากในสภาฯ 312 เสียง ควรได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามครรลองตรงไปตรงมา

 

แต่บรรยากาศที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองตลอด 2 เดือน จนถึงวันนี้มีคำถามดังๆ พี่น้องประชาชนในใจเป็นล้านๆ คนที่กำลังเฝ้าดูวันนี้ว่า หากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไม่เป็นไปตามผลการเลือกตั้ง แล้วเราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม ตกลงอำนาจอธิปไตยของประชาชนในประเทศนี้ตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ หรือเป็นของใครกันแน่ ยังมีคำถามโตๆ ว่าตกลงประชาชนอยู่ตรงไหนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของเรา

ชัยธวัช ลุกถามกลางสภา ก้าวไกลรวมเสียงข้างมาก ชี้ถ้านายกฯ ไม่ใช่ พิธา จัดเลือกตั้งทำไม?

 

คำถามเหล่านี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดเเต่เป็นคำถามที่ดังขึ้นตลอด 2 ทศวรรษ เราผ่านเลือกตั้ง 2 ครั้ง รัฐประหาร 2 ครั้ง เขียนรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ หารพยายามจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร 1 ครั้ง ยุบพรรคการเมือง ชุมนุมนับไม่ถ้วน มีผู้บาดเจ็บและเวียชีวิตนับร้อยชีวิต สังคมไทยยังไม่สามารถให้คำตอบที่ดีและยอมรับร่วมกันได้

 

ปัญหาคือตราบใดที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ ประเทศไทยจะหยุดนิ่งไปอีกนาน ตนในฐานะสมาชิกรัฐสภา เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาและการลงมติในวันนี้จะเป็นโอกาสสำคัญของพวกเราที่จะเริ่มต้นในการแสวงหาคำตอบให้สังคมไทย

 

สมาชิกอาจจะไม่เห็นด้วยในหลายเรื่อง มีข้อกล่าวหามากมาย ท่านอาจกังวลใจที่ถูกอภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือไม่ หรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นสถาบันหลักของชาติ เจตนาที่แท้จริงของการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 112 เป็นอย่างไร

 

ทั้งนี้ ไม่ขอลงรายละเอียด แต่ประเด็นสำคัญที่อยากกล่าวเอาไว้คือข้อเสนอของพรรคก้าวไกล อยู่บนฐานความคิด สถาบันหลักของชาติ หรือสถาบันการเมืองใดๆ ดำรงอยู่ได้ ด้วยความยินยอมของประชาชน ไม่มีสถาบันใดดำรงอยู่ได้ด้วยการกด ปราบ บังคับ ทั้งนี้เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องการเตือนสติทุกฝ่าย ทั้งสมาชิกรัฐสภา และทุกฝ่าย ขอให้ตั้งสติ และมองการณ์ไกลในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สถาบันดำรงอยู่ได้ภายใต้ความเปลี่ยนแปลง เราไม่เชื่อว่าสิ่งใดจะสถิตอยู่เหมือนเดิมทุกประการแล้วจะมั่นคงถาวร

 

“หลายคนบอกว่าการลงมติให้นายพิธาจากพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ เป็นการล้มล้างสถาบัน เป็นการไม่รักชาติ เป็นตัวอย่างที่พวกผมพยายามบอกว่า ไม่ควรเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย เพราะสถาบันในระบอบประชาธิปไตย ต้องอยู่เหนือการเมืองและความขัดแย้งทางการเมือง อันตรายมาก หากต่างฝ่ายต่างดึงเรื่องนี้ เข้ามาพัวพันความขัดแย้งทางการเมืองไม่สมควร ที่จะดึงสถาบันเข้ามาปะทะกับผลการเลือกตั้ง ซึ่งใครจะรับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น” นายชัยธวัช กล่าว

 

ทั้งนี้ ขอให้ลงมติคืนความปกติให้รัฐสภาไทย และแสดงความเคารพต่อประชาชน รวมถึงให้โอกาสครั้งใหม่ให้กับสังคมไทย เป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาคำตอบของยุคสมัยร่วมกันให้ได้ ขอให้ปะชาชนซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์ในระบอบประชาธิปไตย คุ้มครองสมาชิกรัฐสภา ให้ตัดสินใจตามมโนธรรมสำนึกและยึดตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566